POLITICS

‘ไอติม พริษฐ์’ ชงแก้ พ.ร.บ.ประชามติ เหลือเกณฑ์ออกมาใช้สิทธิ์และเห็นชอบ 25%

‘ไอติม พริษฐ์’ ชงแก้ พ.ร.บ.ประชามติ เหลือเกณฑ์ออกมาใช้สิทธิ์และเห็นชอบ 25% เชื่อหากฝ่ายค้าน-รัฐบาล ร่วมยื่น สามารถแก้ผ่าน 3 วาระ ไม่กระทบกรอบ ทำประชามติแก้ รธน. ด้าน อนุ กมธ.ศึกษาระบบเลือกตั้ง สสร. นัดถกแนวทางเลือกได้บุคคลหลากหลายกลุ่ม

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงข้อกังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับเงื่อนไขใน พ.ร.บ.ประชามติว่า ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และภาคส่วนอื่น ๆ มีข้อห่วงใยเกี่ยวกับกฎหมายประชามติที่ต้องใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ที่บัญญัติในมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ประชามติ ที่อาจไม่เป็นธรรมต่อการทำประชามติในทุกหัวข้อ

เกณฑ์ชั้นที่ 1 คือ ต้องมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ ส่วนชั้นที่ 2 คือ ต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ ซึ่งสุ่มเสี่ยงหากคนที่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ถูกถาม แทนที่จะออกมาใช้สิทธิ์แต่ใช้วิธีนอนอยู่บ้านเพื่อคว่ำประชามติแทน และหากรวมกับจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ก็จะไม่ถึงเกณฑ์ เสียงข้างมาก ชั้นแรกก็จะทำให้ตกไป

นายพริษฐ์ เห็นว่า ควรทบทวนกติกานี้โดยเฉพาะชั้นแรก พร้อมเสนอทางเลือกแก้ไข 2 ประเด็น คือ ยกเลิกเกณฑ์ชั้นที่ 1 ไม่ต้องกำหนดจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งบางประเทศไม่มีเกณฑ์ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น และประชามติ 2 ครั้งของประเทศไทย ในการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 ก็ไม่ได้กำหนดเกณฑ์สัดส่วนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ ส่วนอีกหนึ่งทางให้เขียนว่า คนออกมาใช้สิทธิ์และลงคะแนนเห็นชอบ เกิน 25% หรือ 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด ซึ่งจะป้องกันยุทธศาสตร์การนอนอยู่บ้านเพื่อคว่ำประธรรมมติได้

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า วิธีแก้ไขกฎหมาย คือให้รัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมกันยื่นแก้ไขกฎหมายพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 13 ซึ่งถ้าดำเนินการยื่นเสนอไว้ เมื่อสภาเปิดสมัยประชุมช่วงเดือนธันวาคม ก็สามารถที่จะพิจารณาวาระแรกได้ทันที และเชื่อว่าจะสามารถผ่าน 3 วาระไปได้ โดยไม่กระทบต่อกรอบเวลาในการจัดทำประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลวางไว้ว่า จะเคาะว่าจะทำประชามติหรือไม่ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2567 เพราะเป็นการแก้ไขแค่มาตราเดียว

นายพริษฐ์ ยังเสริมว่า อาจพิจารณาประเด็นอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น จะทำอย่างไรให้กฎหมายประชามติรองรับการจัดทำประชามติวันเดียวกับการเลือกตั้ง อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง สส. หรือเลือกตั้งท้องถิ่น จะทำให้สามารถเลือกวันลงประชามติได้ยืดหยุ่นมากขึ้นและอาจมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์มากขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังเสนอให้แก้ไขกรณีการเข้าชื่อของประชาชนเพื่อทำประชามติ 50,000 รายชื่อทางออนไลน์ด้วย

นายพริษฐ์ เปิดเผยก่อนการประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการจัดทำข้อเสนอระบบการเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญว่า วัตถุประสงค์ของคณะอนุกรรมาธิการฯ คือ ศึกษาจัดทำข้อเสนอว่าหากมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จะสามารถออกแบบการเลือกตั้งได้อย่างไร เรื่องของการได้มาจะใช้ทางเลือกใด ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน สามารถเปิดพื้นที่ให้มีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ บุคคลที่มาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพการได้มา ตลอดจนภาคประชาสังคม โดยโจทย์นี้เริ่มต้นจากการอภิปรายของ สส. บางคนที่แสดงความกังวลว่าหาก สสร. มาจากการเลือกตั้ง 100% จะไม่มีสัดส่วนให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม คณะกรรมาธิการฯ จึงตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ ขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง แต่สามารถทำควบคู่กันไปได้ โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จกลางเดือนธันวาคมนี้ ก่อนจะยื่นให้คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 ซึ่งจะทำให้คลายความกังวลว่า สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจะได้ตัวแทนที่หลากหลาย หากออกแบบการเลือกตั้งให้ดี ๆ สามารถตอบโจทย์ได้

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ มีจำนวน 10 คน ประกอบด้วย ตัวแทนภาคการเมือง ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ซึ่งข้อเสนอเบื้องต้นได้เริ่มแลกเปลี่ยนความเห็นกันแล้วและอยู่ระหว่างนำข้อเสนอไปรับฟังความคิดเห็น โดยวันนี้ได้เชิญตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วมหารือ

Related Posts

Send this to a friend