POLITICS

มหาดไทย แก้ไขระเบียบ ลดขั้นตอน ให้ อปท.ทั่วประเทศช่วย ปชช.ได้รวดเร็ว คล่องตัว

มหาดไทยปลดล็อค แก้ไขระเบียบ มท. ว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนฯ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนของ อปท. ทั่วประเทศ เกิดความคล่องตัว ครอบคลุม บรรเทา และลดผลกระทบให้กับพี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด

วันนี้ (17 ต.ค. 65) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในห้วงที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเดือดร้อนและความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับทราบจากเสียงสะท้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ โดยในระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) ที่เป็นระเบียบเดิม ได้ระบุไว้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ 4 ด้าน คือ 1) ด้านสาธารณภัย 2) ด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต 3) ด้านการป้องกันและระงับโรคติดต่อ และ 4) ด้านการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย

หากเป็นกรณีการช่วยเหลือที่นอกเหนือจาก 4 ด้านดังกล่าว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งต้องทำความตกลงกับปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มอบอำนาจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ในแต่ละครั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีหนังสือทำความตกลงเป็นครั้ง ๆ ไป อันเป็นขั้นตอนที่อาจทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ทันการณ์

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เพื่อเป็นการปลดล็อคข้อจำกัดของระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ดังกล่าว ลดขั้นตอนการปฏิบัติ อันจะทำให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พิจารณายกร่างแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเป็นการเร่งด่วน

“ในขณะนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามประกาศใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565 ซึ่งได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา โดยระเบียบ ฯ นี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ เพื่อให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพิจารณาช่วยเหลือประชาชนในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟู เยียวยา สงเคราะห์ และบรรเทาผลกระทบของประชาชนให้ครอบคลุม รวดเร็ว และลดความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องขอทำความตกลงกับปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือผู้ว่าราชการจังหวัด

พร้อมทั้งไม่ต้องเสนอให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณา เช่น กรณีฟ้าผ่าทำให้ประชาชนเสียชีวิต กรณีเสียชีวิตเนื่องจากช่วยเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติงานหรือช่วยเหลือผู้อื่น กรณีมีเหตุการณ์ใช้อาวุธทำร้ายประชาชนจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตโดยผู้ประสบภัยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และกรณีตั้งศูนย์ช่วยเหลือค้นหาประชาชนที่สูญหาย เป็นต้น

โดยในกรณีจำเป็นเร่งด่วนในการช่วยเหลือประชาชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ตามความจำเป็น เหมาะสม ไม่เกินอัตราตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานรัฐกำหนด เช่น การนำอัตราตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 ของกระทรวงการคลัง เพื่อช่วยเหลือด้านดำรงชีพเป็นค่าอาหาร จัดเลี้ยง 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 50 บาทต่อคน ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บสาหัสเบื้องต้น เป็นเงินจำนวน 4,000 บาท ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิตในอัตราไม่เกินรายละ 29,700 บาท เป็นต้น ซึ่งการช่วยเหลือประชาชนอาจช่วยเป็นสิ่งของหรือจ่ายเป็นเงินก็ได้ และกรณีการใช้จ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้พิจารณาถึงผลกระทบต่อสถานะทางการคลังในการบริหารหรือการจัดการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า “ขอเรียนกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศว่า ขณะนี้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565 จะช่วยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งสามารถฟื้นฟู เยียวยา สงเคราะห์ และบรรเทาผลกระทบของประชาชนได้คล่องตัว ครอบคลุม และช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากไปได้โดยเร็ว และเมื่อสิ้นสุดโครงการช่วยเหลือต่าง ๆ ก็ขอความร่วมมือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินการให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบโดยทั่วกัน เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน โดยให้ติดประกาศ ณ สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานที่กลาง และที่ทำการหมู่บ้าน และชุมชน ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันทวนสอบให้เกิดความถูกต้อง และเกิดความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ”

Related Posts

Send this to a friend