POLITICS

8 พรรคร่วม มีมติส่ง ‘พิธา’ ชิงนายกฯ รอบสอง มั่นใจได้เสียงเพิ่ม 10% ไร้ชื่อแคนดิเดตสำรอง

วันนี้ (17 ก.ค.66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังประชุมหารือแนวทางการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 19 ก.ค.นี้ว่า ที่ประชุมมีข้อสรุป 3 ข้อ ได้แก่ 1.วันที่ 19 ก.ค.นี้ 8 พรรคมีมติส่งตนเองเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย 2.การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นการเสนอโดยพรรคก้าวไกล ไม่เกี่ยวข้องกับ 7 พรรคที่เหลือ 3.ข้อบังคับรัฐสภา ข้อที่ 41 ที่มีกระแสข่าวว่าวุฒิสภา จะตีความตามข้อบังคับ ซึ่งในที่ประชุมมีความเห็นทางกฎหมายว่าไม่น่าจะเข้าข่าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ไม่ถือว่าเป็นญัตติ ในการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มองเห็นต่างกับ ส.ว. ทั้งยังมีการเตรียมรายละเอียดในการเข้าสู่วันที่ 19 ก.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะตั้งหลักอย่างไร หากวันที่ 19 ก.ค.นี้ มีเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอ นายพิธา กล่าวว่าหากสมรภูมิแรก ถ้าคะแนนไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เราก็พร้อมที่จะถอยให้กับประเทศชาติ และพรรคอันดับ 2 หรือพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกันยังมีมาตรา 272 ที่ได้ยื่นเข้าไปแล้ว และต้องบรรจุญัตติภายใน 15 วัน ย้ำว่าดำเนินการโดยพรรคก้าวไกลพรรคเดียว ไม่ได้ผูกมัดกับพรรคอื่น

ทั้งนี้หากมีการตีความตามข้อบังคับรัฐสภา ที่ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ ทาง 8 พรรค ได้มีข้อสรุปในทางกฎหมาย โดยพรุ่งนี้จะมีการประชุมวิปอีกครั้ง น่าจะมีความเห็นตรงกัน ส่วนความสัมพันธ์กับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ด้วยดี มีความพยายามที่จะตั้งรัฐบาลของประชาชนให้ได้ จึงมีมติที่จะเสนอชื่อตนเองเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง จะพยายามใช้เวลาที่เหลืออย่างเต็มที่ ส่วนที่มีความต้องการเสียงสนับสนุนจากพรรคชาติไทยพัฒนา ยังไม่เป็นมติของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ทั้งนี้ยังไม่ได้เตรียมชื่อสำรองไว้ กรณีไม่สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตซ้ำได้ ขณะนี้ยังเป็นชื่อตนเองเพียงคนเดียวอยู่

ขณะที่ความคืบหน้าของการหาเสียงสนับสนุนจากส.ว. นายพิธา ระบุว่า หลังจากวันที่ 13 ก.ค.66 ได้มีการพูดคุยกับ ส.ว.เพิ่มขึ้น โดยมีคนที่ไม่ได้มาร่วมโหวตออกเสียงในวันนั้นด้วย มีความเป็นไปได้ว่าจะโหวตให้ คาดว่าจะได้เสียงสนับสนุนเพิ่มอีก 10% จากเห็นชอบ 324 เสียง เป็น 344 เสียง แต่ขอให้รอดูว่าเป็นเสียงจาก ส.ส. หรือ ส.ว. ส่วนการหารือกับขั้วรัฐบาลเดิม ปกติตนเองหารือแลกเปลี่ยนประเด็นทางการเมืองกับเพื่อน ส.ส.และ ส.ว.อยู่แล้ว ได้พูดคุยกับทุกพรรคการเมืองยกเว้นพรรคลุง ยืนยันว่าไม่มีการเชิญเข้าร่วมรัฐบาล หรือขอเสียงสนับสนุน

นายพิธา ยังกล่าวถึงการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ แข่งว่าหลายพรรคบอกว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อยเป็นไปไม่ได้ ทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท พรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วนพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐที่ยังไม่แสดงความเห็นเรื่องรัฐบาลเสียงข้างน้อยให้เป็นที่ประจักษ์ ต้องฝากผู้สื่อข่าวไปถาม เพื่อความชัวร์

เมื่อถามถึง ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ที่ถูกพรรคขั้วรัฐบาลเดิมเรียกไปคุย พรรคก้าวไกลติดตามและเช็กตลอด มั่นใจว่าทุกคนคงได้รับบทเรียนกับการเป็นงูเห่าแล้วได้รับคะแนนกลับมาหลักพันคะแนน พักก้าวไกลไม่น่าจะมีและพรรคเพื่อไทยก็เช่นกัน

ส่วนกรณีหากพรรคก้าวไกล ยอมถอยเรื่องการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วพรรคอื่นที่มีจุดยืนไม่เอามาตรา 112 มายกมือให้ นายพิธา มองว่ามาตรา 112 เป็นข้ออ้างที่อยู่ข้างหน้า ข้างหลังมีหลายเรื่องที่อาจกระทบกับผลประโยชน์ สัมปทาน การปฏิรูปกองทัพ กอ.รมน. ที่พรรคก้าวไกลต้องการให้ทหารออกจากการเมือง เชื่อว่ามาตรา 112 เป็นเรื่องที่อ่อนไหว แต่ก็ไม่ใช่ทุกอย่าง คิดว่าถ้าเรื่องนี้หายไปเรื่องอื่นก็จะมาอีกทาง เรื่องที่สำคัญคือตนเองต้องการที่จะรักษาคำพูด ก่อนหาเสียงพูดอย่างไร หลังหาเสียงก็ไม่ใช่ว่าต้องการที่จะเข้าสู่อำนาจด้วยทุกวิถีทาง

ผู้สื่อข่าวยังถามถึงแนวทางการรับมือหากถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน นายพิธา เปิดเผยว่าผลจะออกมาอย่างไร ไม่ได้ทำให้ความเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของตนเองหายไป เมื่อเทียบกับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจ

Related Posts

Send this to a friend