POLITICS

‘วุฒินันท์’ นำทีมสำรวจความเดือดร้อนหลังเหตุเพลิงไหม้ ‘หมิงตี้เคมีคอล’

เรียกร้อง ‘มหาดไทย’ เป็นเจ้าภาพหลักดูแลเยียวยาความเสียหายประชาชน

วุฒินันท์ บุญชู ส.ส. สมุทรปราการ เขต 4 พรรคก้าวไกล และ พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า นำทีมงานพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า พบปะเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ชุมชนหลังวัดกิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เพื่อสอบถามปัญหาและติดตามความช่วยเหลือจากภาครัฐ หลังเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล ซึ่งเป็นโรงงานเก็บสารเคมีที่ทำให้ต้องมีคำสั่งอพยพประชาชนในรัศมี 5-10 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา

วุฒินันท์ กล่าวว่า ตนเองและทีมงานพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่เกิดเหตุวันแรก โดยทีมงานได้เข้าไปช่วยในการลำเลียงอพยพประชาชนไปศูนย์พักพิงชั่วคราว 7 จุดที่มี อบต.บางพลีใหญ่ เป็นศูนย์กลาง เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจึงได้เริ่มสำรวจความเสียหาย โดยเริ่มจากชุมชนหลังวัดกิ่งแก้วเป็นชุมชนแรก เนื่องจากเป็นชุมชนใกล้เคียงจุดเกิดเหตุ ห่างจากโรงงานเพียง 800-900 เมตรเท่านั้น และสภาพเศรษฐกิจของชุมชนที่ต้องยอมรับว่าอาจไม่สามารถฟื้นฟูซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่เสียหายได้เองโดยเร็ว ทางทีมงานก้าวไกลจึงร่วมกับคณะก้าวหน้า ที่มี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธาน มาช่วยเหลือซ่อมแซมความเสียหายให้ชุมชนเป็นการเบื้องต้น

“เหตุการณ์ระเบิดและเพลิงไหม้เกิดขึ้นวันที่ 5 ก.ค. ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า 10 วัน แต่การดูแลความเสียหายที่มีผู้ได้รับผล กระทบเป็นจำนวนมากยังไม่เกิดขึ้น ทั้งในเรื่องของการชดเชยเยียวยาและการซ่อมแซมอาคารบ้านเรือน รวมถึงผลกระทบด้านสุขภาพที่ยังไม่มีการตรวจในส่วนของประชาชน ซึ่งพวกเขายังมีความกังวลถึงผลกระทบจากสารพิษตกค้างต่างๆทั้งในร่างกายและในธรรมชาติคือ อากาศ ดิน และน้ำ การติดตามดูแลในเรื่องเหล่านี้ เจ้าภาพหลักควรเป็นกระทรวงมหาดไทย ทั้งหมดยังคงต้องได้รับการดูแลจากภาครัฐ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลอย่านิ่งเฉย อย่าเอาเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดมากลบปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวสมุทรปราการของเรา”

สำหรับข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 4 ประการ ได้แก่

1. รัฐบาลต้องสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น และประเมินมูลค่าความเสียหายโดยเร็วที่สุด

2. รัฐบาลต้องทำการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนตามความจริง โดยให้ออกพระราชกำหนดเหมือนครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 54 เพื่อเยียวยาพี่น้องที่ได้รับผลกระทบโดยไม่จำกัดวงเงิน และเมื่อรัฐบาลทำการเยียวยาแล้ว ก็ให้รัฐบาลเรียกรายจ่ายต่างๆ ที่ใช้ในการเยียวยาจากผู้ก่อความเสียหาย

3. รัฐบาลต้องเปิดให้ประชาชนตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับใบอนุญาตในการประกอบกิจการของโรงงาน (รง.4) และรายงานการประชุมในการพิจารณาการอนุญาตให้ประกอบกิจการของโรงงานทุกฉบับ นับแต่มีการเริ่มดำเนินกิจการมา และให้มีการตรวจสอบพื้นที่ แผนผังการจัดวางเครื่องจักร และเอกสารที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรทุกฉบับ

4. รัฐบาลต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบรายงานการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ESA) รายงานการประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน เอกสารเกี่ยวกับการจัดการและขจัดมลพิษ และรายงานการรับฟังความเห็นของประชาชนที่เกิดจากการดำเนินกิจการโรงงานตามกฎหมายโรงงาน

Related Posts

Send this to a friend