POLITICS

‘สมาพันธ์ผู้ประกอบธุรกิจกลางคืนฯ’ ยื่นหนังสือขอมาตรการผ่อนปรนและเยียวยา

วันนี้ (17 มิ.ย. 64) ที่อาคารรัฐสภา ตัวแทนจากสมาพันธ์ผู้ประกอบธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง นำโดย นายธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกและแถลงการณ์ กรณีการขอมาตรการผ่อนปรนและเยียวยา ให้กับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะตัวแทนพรรคร่วม และนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา โดยมี นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา เป็นตัวแทนรับหนังสือ

โดยตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพกลางคืนได้มีข้อเสนอ 8 ข้อหลัก คือ

1.ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม โดยให้ปิดเฉพาะสถานบันเทิงที่พบผู้ติดเชื้อหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลา 14 วัน เพื่อทำความสะอาด

2.ขอให้มีคำสั่งปลดล็อคให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการ โดยให้ปฏิบัติตามคำสั่งของ ศบค.และกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด

3.ผ่อนปรนให้สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านได้

4.ผ่อนปรนให้มีการจัดมหรสพในพื้นที่ปิดได้ โดยต้องรักษาระยะห่างตามความเหมาะสม

5.พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ

6.พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา พักชำระหนี้ และการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ

7.เปิดช่องทางการสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการประชาชนที่เดือดร้อน

8.เสนอให้ ศบค. พูดคุยกับกระทรวงแรงงาน ให้ผ่อนปรนเรื่องการจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน

อย่างไรก็ หนึ่งในผู้ประกอบการ ระบุด้วยว่า “2 ระลอกแรกผู้ประกอบการต้องหยุดกิจการแบบเหมารวม จากนั้นระลอก 3 ก็ถูกสั่งปิดทั่วประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนได้ต้องมีทั้งภาคกลางวันและกลางคืน อยากให้ความสำคัญคนกลางคืนเท่าเทียมกับคนกลางวันด้วย”ด้าน นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า ข้อเสนอของผู้ประกอบธุรกิจภาคกลางคืนที่มาในนามสมาพันธ์ธุรกิจกล่งคืนฯ มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นล้านชีวิต เช่น ช่วงแรกที่มีการปิดแบบเหมาทำให้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมาตรการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง โดยแนวทางหลังจากนี้จะดูให้ครอบคลุมว่าในระยะสั้นมาตรการที่จะไปขับเคลื่อนจะใช้กลไกใด แต่หลักๆ คือตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาตอบว่าจะช่วยผู้ประกอบธุรกิจภาคบันเทิงได้อย่างไร ต่อมาต้องสอบข้อเท็จจริงและหาความจริงในกรรมาธิการ และเสนอญัตติให้สภาช่วยกันระดมสมองให้หาแนวทางแก้ไข ซึ่งตนเองเชื่อว่าพรรครัฐบาลและพรรคทุกพรรคจะเห็นด้วย ต่อมาสิ่งที่ต้องช่วยเหลือคือการช่วยเหลือในระยะยาวให้ภูมิคุ้มกันในมิติเศรษฐกิจ ทั้งการเข้าถึงแหล่งทุน โดยพิจารณาในระยะกลาง ส่วนระยะยาวกำลังดูว่าจะสามารถตั้งกองทุนได้อย่างไรบ้าง

Related Posts

Send this to a friend