‘พิชัย’ สั่งประชุมด่วนอนุตลาดข้าว เตรียมชง นบข. แก้ปัญหาข้าวนาปรัง
‘พิชัย’ สั่งประชุมด่วนอนุตลาดข้าว เตรียมชง นบข. แก้ปัญหาข้าวนาปรัง พร้อมเปิดจุดตลาดนัดข้าวเปลือก 20 จังหวัด หงังดึงราคาข้าวเพิ่มขึ้น 100-200 บาทต่อตัน
วันนี้ (17 ก.พ. 68) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้กรมการค้าภายในเร่งจัดประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาข้าวนาปรังที่ได้รับผลกระทบด้านราคาข้าวขาวในตลาดโลก วันที่ 20 ก.พ.นี้ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมีนายพิชัยเป็นประธาน
นายพิชัย ระบุว่า จากสถานการณ์ที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าว ประกอบกับการที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ลดการนำเข้าข้าว ทำให้ข้าวไทยได้รับผลกระทบ จึงให้กรมการค้าภายในเร่งจัดประชุมเพื่อเสนอมาตรการช่วยเหลือชาวนาก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ นบข. พิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด
ขณะเดียวกัน ยังได้สั่งการให้กรมการค้าภายในจัดตลาดนัดข้าวเปลือกปีการผลิต 2567/68 ตั้งแต่ ก.พ. – เม.ย. 68 โดยมีแผนที่จะจัดตลาดนัดข้าวเปลือกอีก 14 ครั้ง เพื่อดึงราคาข้าวเปลือกให้สูงขึ้นในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด คือ อ่างทอง สุรินทร์ สิงห์บุรี พิษณุโลก สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี และนครราชสีมา ตั้งเป้าช่วยดันราคาขายข้าวของเกษตรกรให้ปรับเพิ่มขึ้นได้ 100-200 บาท/ตัน โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดตลาดนัดครั้งที่ 1 ในวันที่ 16-20 ก.พ. 68
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่เกษตรกรจะมาประท้วงโดยการปิดถนนเพื่อกดดันภาครัฐ เพราะจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ส่วนรวม โดยสมาคมฯ ผลักดันให้มีการเสนอมาตรการผ่านทางคณะกรรมการแล้ว ซึ่งวันที่ 17 ก.พ. จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล รมว.กระทรวงพาณิชย์ และ รมว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเร่งหาวิธีแก้ปัญหา
สำหรับปัญหา ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผา ภาครัฐมีมาตรการเข้มงวด ส่งผลต่อต้นทุนการบริหารจัดการแปลงนาเพิ่มขึ้นไร่ละประมาณ 500 บาท ได้เสนอให้ภาครัฐช่วยเหลือเช่นกัน เบื้องต้นทางกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งว่าจะมีการประชุมอนุตลาด นบข. เพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าวในวันที่ 20 ก.พ. 68 รวมถึงจะมีมาตรการให้จัดตลาดนัดข้าวเปลือกในจังหวัดที่มีปัญหา
สำหรับสถานการณ์ข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ปี 2567/68 คาดว่าจะมีปริมาณรวม 6.53 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 1.08 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปีก่อนที่มีปริมาณอยู่ที่ 5.45 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนด้านผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้วในเดือน ก.พ. 68 โดยจะออกกระจุกตัวช่วง มี.ค. – เม.ย. 68 ประมาณ 68% หรือ 4.42 ล้านตัน
สำหรับราคาข้าวเปลือกเจ้า ณ วันที่ 14 ก.พ. 68 อยู่ที่ 8,300 – 9,000 บาท/ตัน (เฉลี่ยอยู่ที่ 8,650 บาท/ตัน ปรับลดลงเทียบกับ ปีก่อนที่ 12,500 บ/ตัน หรือลดลง30%) ทั้งนี้ ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ก.ย. 67 เป็นต้นมา เนื่องจากอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวตามปกติ รวมทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีแนวโน้มนำเข้าลดลงจากการเก็บสต๊อกที่เพียงพอแล้ว ทำให้ความต้องการนำเข้าข้าวขาวจากไทยชะลอตัว จึงได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับราคาในปี 2565 ช่วงก่อนที่อินเดียจะงดการส่งออกข้าว