นายกฯ แจงภารกิจ กอ.รมน. ลั่นไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

นายกรัฐมนตรี แจงยิบภารกิจ กอ.รมน. แม้ไม่มีคอมมิวนิสต์ ลั่น ไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ย้อนถามสื่อ ต้องการให้ประเทศชาติวุ่นวายสับสนหรือ บอก ไม่ใช่มีไว้เพื่อต้องการอำนาจ เลี่ยงตอบปมยุบสภาฯ ช่วงวันเกิด ด้าน ผบ.ทบ. พูดทีเล่นทีจริง บอกไม่รู้ ไม่ทราบ หลังถามเรื่องปฏิรูปกองทัพ
วันนี้ (17 ก.พ. 66) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการเป็นประธาน วันสถาปนากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ครบรอบ 15 ปี ถึงกรณีที่ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาเรียกร้องให้ยุบ กอ.รมน. โดยนายกรัฐมนตรีย้อนถามว่าทราบภารกิจของ กอ.รมน. หรือไม่ อยากให้ติดตามว่าทุกอย่างมีความเป็นมา เหตุใดจึงต้องมี และมีมาตั้งแต่เมื่อได โดยกอ.รมน.เป็นหน่วยงานที่ใช้ในการบูรณาการความมั่นคงภายใน
หลายท่านอาจจะมองว่ามีทหาร ตำรวจ และหน่วยงานราชการอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องมีหน่วยงานเหล่านี้อีก ซึ่งเป็นการบูรณาการกันในการแก้ไขปัญหาหลายปัญหา ซึ่งมีความทับซ้อนกัน ซึ่งตามปกติมีกฎหมายมีหน่วยงานเฉพาะดูแลอยู่ แต่เมื่อใดปัญหามีความเชื่อมโยงกัน ต้องมีกฎหมาย หน่วยงานที่จะต้องทำงานร่วมกัน ในกรณีที่เกินกำลัง เกินขีดความสามารถของหน่วยงานปกติ เหมือนในอดีตที่มีคอมมิวนิสต์ วันนี้แม้จะไม่มีแล้ว แต่ก็มีสถานการณ์อื่นเข้ามา เช่น ปัญหาความมั่นคงภายใน ปัญหายาเสพติด และมีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศด้วย กอ.รมน.จึงเป็นหน่วยงานเสริมหน่วยงานอื่นในการปรึกษาหารือพูดคุย
หากสถานการณ์มีความรุนแรง ก็มี พ.ร.บ.ความมั่นคง ทำให้สามารถกำกับดูแลได้ดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับในต่างประเทศก็มี National Guard ซึ่งเมื่อสถานการณ์ปกติเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดูแลไป ซึ่งหากในต่างประเทศ มีความรุนแรงเกิดขึ้นก็จะใช้หน่วยงานนี้ ซึ่งมีชุดแต่งกายแตกต่างจากหน่วยงานอื่น ซึ่ง กอ.รมน.ของไทย ไม่ได้มุ่งหมายถึงข้้นนั้น แต่ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้
“ไม่ใช่มีไว้เพื่อต้องการมีอำนาจ เหนือโน้นเหนือนี่ไม่ต้องหรอกครับ อำนาจทั้งหมด มันอยู่ที่พวกเรา อยู่ที่กรอบกติกา ถ้าพวกเราอยู่ในกรอบกติกาของกฎหมาย ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้อะไรก็ได้ วันหน้าไม่ต้องมีเลยก็ได้ มันเป็นไปได้ไหมเล่า”
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ยังระบุอีกว่า สถานการณ์ปัจจุบันภัยคุกคาม รูปแบบใหม่เข้ามาจำนวนมาก ทั้งภัยไซเบอร์ และภัยจากต่างประเทศ กอ.รมน. เป็นเพียงช่องทางหนึ่ง ในการแก้ไขปัญหา เหมือนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองดูแลเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การดำเนินการใดๆ จะต้องมีความสุจริต อาจฟังดูง่าย คนไทยทุกคน ต้องเข้าใจว่าเราจะร่วมมือกันได้อย่างไร หลายอย่างเป็นปัญหายาวนาน ต้องช่วยแก้ไข
เมื่อถามว่าหลายคนมีข้อกังวลว่าอาจจะใช้ กอ.รมน. ในทางการเมือง นายกรัฐมนตรี โต้กลับทันทีว่าตนก็ชี้แจงอยู่นี่ไงว่า กอ.รมน.ทำอะไรบ้าง เขาไปจับกุมใครหรือเปล่า
เมื่อถามย้ำว่าในระดับพื้นที่มีมีการใช้ กอ.รมน.ในการเผยแพร่เรื่องการเมืองกับชาวบ้าน นายกรัฐมนตรีย้อนถามกลับว่า “นั่นสิ แล้วมันผิดไหมเล่า ตอบมาสิ เขาทำผิดหรือไม่ หากทำผิดก็ต้องดำเนินคดี ประเทศ โลกนี้อยู่ด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ ละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ไม่ใช่มั้ง ก่อนจะย้อนถามสื่อมวลชนกลับว่า คุณต้องการให้ประเทศชาติวุ่นวาย สับสนอลหม่านหรือเปล่าล่ะ ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องมีกฎหมาย บอกมาเลยว่า นายกฯ ไม่ต้องทำหรอกครับ จะได้ไม่ต้องทำ”
เมื่อสื่อข่าวถามย้ำว่าในมิติด้านความมั่นคงอาจจะดูครอบคลุมเยอะ นายกรัฐมนตรี เบือนหน้าหนีและเดินออกจากวงสัมภาษณ์ในทันที
โดยก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะขึ้นรถ เพื่อเดินทางกลับผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงกำหนดการวันยุบสภาฯ ว่าจะเป็นช่วงวันเกิดของนายกรัฐมนตรีวันที่ 21 มีนาคมนี้ หรือไม่ พลเอกประยุทธ์ย้อนถามกลับผู้สื่อข่าวว่า แล้วคุณเกิดเมื่อไหร่นะ ผู้สื่อข่าวจึงตอบกลับว่า 16 ธันวาคม แต่ไม่ทันยุบสภา นายกรัฐมนตรีจึงตอบ ไม่ทันก็เอาไว้คราวหน้าแล้วกัน โดยระหว่างที่นายกรัฐมนตรีอยู่บนรถได้ย้ำกับผู้สื่อข่าวว่า เริ่มต้นวันดีๆ หน่อย ก่อนที่จะโบกมือ ได้เดินทางกลับในทันที
ขณะที่พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ที่มายืนส่งนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามถึงการอภิปรายทั่วไป ที่มีการพาดพิงถึงกองทัพหลายเรื่อง โดยเฉพาะทวงถามเรื่องการปฏิรูปกองทัพ จากเหตุกราดยิงโคราช ซึ่ง พลเอกณรงค์พันธ์ ตอบอย่างอารมณ์ดีว่า “ไม่รู้ ไม่ทราบ ค่อยพูดคุยกันวันจันทร์” ซึ่งผู้บัญชาการทหารบก มีกำหนดการลงพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์
