POLITICS

ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ยื่นหนังสือ เลขาฯ ยูเอ็น จี้ ไทยปฏิบัติตามปฏิญญาระหว่างประเทศ

ชาวเล เกาะหลีเป๊ะ ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการองค์การสหประชาชาติให้ จี้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามปฏิญญาระหว่างประเทศที่ได้ตกลงไว้ เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ หลังชาวเลถูกละเมิดสิทธิที่ดินทำกิน

วันนี้ (17 ม.ค. 66) ที่องค์การสหประชาชาติ ชาวเลเกาะหลีเป๊ะได้เข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เพื่อขอให้สหประชาชาติได้ทำการตรวจสอบและให้คำแนะนำกับรัฐบาลไทย ที่ได้ลงนามในปฏิญญาระหว่างประเทศ จากรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมือดั้งเดิม “อูรักลาโว้ย” เกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล

ตามที่ประเทศไทยได้ลงนามในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (UNDRIP) และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) แต่ในกรณีชนเผ่าพื้นเมืองเดิมที่มีชื่อว่า “อูรักลาโว้ย” ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกและอาศัยอยู่บนเกาะหลีเป๊ะ อ.เมือง จ.สตูล ซึ่งรัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงและสนธิสัญญาที่ได้ลงนามไว้ กลับปล่อยปะละเลยให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มนี้

โดยกรณีปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมืองเดิมบนเกาะหลีเป๊ะมีหลายกรณีด้วยกัน กรณีแรกคือการลิดรอนสิทธิในที่ดินที่เป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันบนเกาะหลีเป๊ะ และการฟ้องร้องคดีอาญาว่าชาวเลเป็นผู้บุกรุกที่ดินซึ่งกรณีนี้มีสาเหตุมาจากการออกเอกสารสิทธิที่ดินที่มิชอบ

ดังนั้นจึงมีข้อเรียกร้องมายังองค์การสหประชาชาติ 3 ข้อ

1.ขอให้องค์การสหประชาชาติได้ทำการตรวจสอบและพิจารณาว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือสนธิสัญญาที่ได้ลงนามไว้หรือไม่ และเร่งให้คำแนะนำกับรัฐบาลไทยถึงแนวปฏิบัติที่ดีต่อชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

2.ขอให้องค์การสหประชาชาติพิจารณาดำเนินการสร้างความเข้าใจกับรัฐบาลไทยในความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการหรือกฎหมายที่มีลักษณะคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

3.ขอให้องค์การสหประชาชาติได้ประสานการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล การติดตามการดำเนินการแก้ปัญหาของรัฐบาลต่อกรณีปัญหาชาวเลเกาะหลีเป๊ะอย่างต่อเนื่อง และประสานติดตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ว่าเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือไม่อย่างไร

ทางกลุ่มชาวเลได้ส่งตัวแทนเข้าไปยื่นหนังสือ แต่เนื่องจากการยื่นหนังสือในครั้งนี้เป็นการยื่นต่อเลขาธิการสหประชาชาติโดยตรง อาจต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการที่ทางไทยจะส่งเอกสารไปถึง แต่ยืนยันว่าเป็นภารกิจหลักขององค์การสหประชาชาติที่ต้องดำเนินการให้ประเทศผู้ลงนามในปฏิญญา ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ลงนามไว้

Related Posts

Send this to a friend