POLITICS

‘พิธา’ ยันไม่ได้ด้อยค่าผลงานรัฐบาล เพียงแต่วิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์

‘พิธา’ ยันไม่ได้ด้อยค่าผลงานรัฐบาล เพียงแต่วิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ วอน ‘เศรษฐา’ คุยผลศึกษาแลนด์บริดจ์กับชาวบ้าน หลังโรดโชว์ดึงนักธุรกิจร่วมทุน

วันนี้ (16 ธ.ค. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยภายหลังเมื่อวานนี้จัดแถลงข่าววิเคราะห์ผลงานรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน หลังบริหารราชการแผ่นดินมาครบ 100 วันว่า ไม่ได้โจมตี เป็นการวิเคราะห์และทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในฐานะผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็มีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ตนเองวิเคราะห์ แต่การทำหน้าที่ของตนเองเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมารัฐบาลช่วยเหลือวิกฤตอิสราเอล-ฮามาสได้เป็นอย่างดี ทั้งยังฉีดวัคซีน HPV 1 ล้านโดส

แต่นายกรัฐมนตรียังมีความกังวล โดยเฉพาะเรื่องค่าไฟและค่าแรงที่ยังไม่เห็นด้วย การจะเห็นอะไรเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เพียงข้อสั่งการ แต่ต้องลงไปดูในรายละเอียด ยกตัวอย่างเรื่องค่าแรงต้องไปดูสูตรการคำนวณของบอร์ดไตรภาคี จะได้ไม่ต้องเซอร์ไพรส์ต่อหน้านักข่าวอีก และเป็นการสร้างความมั่นใจให้พี่น้องแรงงานและผู้ประกอบการด้วย

ส่วนการให้บอร์ดไตรภาคีกลับไปทบทวนเรื่องค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นการแทรกแซงทางการเมืองหรือไม่ คงต้องดูกฎหมาย เพราะการนำเรื่องชงเข้า ครม.แล้วถอดออก อาจเกิดความไม่มั่นใจหรือความไม่พอชอบมาพากล แม้แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีก็ยังเข้าใจว่ามีบางเรื่องต้องยกเว้น เพื่อให้ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 300 บาท จึงต้องไปย้อนดูในอดีตด้วย หากปล่อยให้เป็นไปตามสูตรคำนวณก็อาจจะขึ้นปีละ 2-3 บาทอย่างที่เป็นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ที่พรรคเพื่อไทยมองว่าการที่นายพิธาออกมาวิเคราะห์ผลงานรัฐบาลเป็นการด้อยค่า โดยขอให้รอดูผลงานในระยะยาวเพราะ 3 เดือนแรกเป็นการสางปัญหาจากรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายพิธา ยืนยันว่าไม่ใช่การด้อยค่า ยุทธศาสตร์ 100 วันแรกเป็นเรื่องปกติของนายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีหลายประเทศ ล่าสุดนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ก็ประกาศ 40 กว่าข้อที่จะทำใน 100 วันแรก การออกมาวิเคราะห์เช่นนี้ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมไม่ใช่ 2 สัปดาห์แรกที่ยังไม่มีโอกาสทำอะไร

100 วันแรกมีความสำคัญอยู่ 2-3 ประเด็น ประเด็นแรก รัฐบาลนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้ก่อนเข้าสู่อำนาจ ประเด็นที่ 2 แผนงานในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะการทำงาน 100 วันแรกที่งบประมาณยังเป็นของปีเดิม และกฎหมายยังผ่านไม่ได้ ประเด็นที่ 3 การบริหารความคาดหวังของประชาชน และการบริหารความมั่นใจของประชาชน ถึงทิศทางในการบริหารราชการแผ่นดิน จากที่เห็นนายกรัฐมนตรีเดินทางไปหลายประเทศ เมื่อวานพูดคุยที่นักธุรกิจญี่ปุ่นก็ทำได้ดี อยากให้ทำแบบเดียวกันกับประชาชนคนไทย โดยเฉพาะโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ แลนด์บริดจ์ อยากให้ กลับมาอภิปรายโครงการนี้ที่สภาผู้แทนราษฎร และประชาชนชาวชุมพร-ระนอง ว่าผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และที่อื่น ๆ แตกต่างกันอย่างไร เท่าที่ที่ได้รับคำตอบจากภาคเอกชนนั้น ตรงกันข้ามกับที่นายกรัฐมนตรีพูดในต่างประเทศ

“ไหนๆ ท่านก็เดินทางไปต่างประเทศบ่อย อธิบายให้กับนักลงทุนต่างประเทศแล้วก็ต้องอธิบายให้กับคนไทย เพื่อบริหารความคาดหวังและบริหารความเชื่อมั่นให้กับคนที่อยู่ในประเทศนี้ อยากได้คำตอบจากนายกรัฐมนตรีว่าศึกษาเรื่องนี้แบบใด กี่ครั้ง” นายพิธา กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend