POLITICS

‘ทีมไทยแลนด์’

พูดถึงบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ทุกคนล้วนนึกถึงเรื่องการท่องเที่ยว ภาพชายหาดทอดยาวสุดลูกตาความสวยงามที่ธรรมชาติสรรค์สร้าง แต่กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข การเดินทางไปบาหลี คือ การทำภารกิจสุดโหด เมื่อต้องนำทัพกระทรวงสาธารณสุขไปหารือ เพื่อให้ไทย ได้บรรลุเป้าหมายใหญ่ คือ การให้สยามประเทศ ได้ตั้งสำนักงานเลขาธิการของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) 

ในวงการสาธารณสุขอาเซียน นี่คือหน่วยงานใหม่ ซึ่งเป็นที่หมายปองของหลายๆ ชาติ ในภูมิภาคนี้เพราะการได้ตั้งศูนย์ดังกล่าว คือ เครื่องยืนยันว่า ประเทศนั้น มีความสามารถดีเยี่ยมในการจัดการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะ ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาด ความมั่นคงด้านสุขภาพ ยิ่งมีความสำคัญมากเป็นทวีคูณ การแข่งขัน เพื่อหาว่าชาติไหน เหมาะแก่การเป็นศูนย์กลางของ ACPHEED ก็ยิ่งเข้มข้นมากๆ 2 ชาติ ที่เข้ามาเป็นคู่แข่งกับไทยโดยตรงคือเวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ที่อินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพ และท่านรองฯ ได้เข้าร่วมประชุม ก็มีการหารือเรื่องการตั้งศูนย์ข้างต้น ในบรรยากาศที่ดุเดือด 

เรื่องศูนย์ ACPHEED มีการหารือกันมาอย่างเข้มข้นในตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถมีมติได้ว่าประเทศไหน ควรได้รับเกียรติให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการฯ กระทั่งมาการประชุมรอบนี้ ที่มีการตกผลึกร่วมกัน และเลือกประเทศไทยในที่สุด ซึ่งการประชุมในช่วงเช้าของวันที่ 14 มีการเสนอเรื่องนี้เข้าไปในที่ประชุม และมีการพูดคุยกันเป็นวงกว้าง ในที่สุด วันเดียวกันในช่วงบ่าย ประเทศไทยก็ได้รับข่าวดี นายอนุทิน ถึงขั้นเป่าปากโล่งใจ แล้วยกธงชาติไทย มาไว้บนหัว เป็นสัญลักษณ์ว่าเขาได้ทำเพื่อชาติบ้านเมืองสำเร็จแล้ว โดยนายอนุทิน ได้โพสต์รูปทีมงานที่ร่วมคณะไปประชุมครั้งนี้ พร้อมข้อความว่า 

Team Thailand in ASEAN Health Ministerial Meeting in Bali. 

และ 

Proud to work with Public Health team of Thailand. We have all we want out of this ASEAN Health Ministers meeting in Bali, Indonesia

#รักเธอประเทศไทย

แปลเป็นไทย ว่า 

“ทีมประเทศไทย ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ที่บาหลี” 

“ภูมิใจ ที่ได้ทำงานร่วมอยู่ในทีมสาธารณสุขไทย เราบรรลุความประสงค์ ในทุกสิ่งที่เราต้องการ ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุข ที่ บาหลี อินโดนีเซีย” 

ซึ่งต่างก็ทราบดีว่า นายอนุทิน หมายถึงการที่ไทยได้ตั้งศูนย์ ACPHEED นี่เอง เอาเข้าจริง ความสำเร็จนี้เกิดมาจากหลายสิ่ง หลายอย่างผสมกัน แต่ที่สำคัญคือ ตลอด 3 ปีที่ไทยต้องเผชิญกับโควิด-19 ประเทศไทย ได้จัดการกับสถานการณ์ได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นที่ยอมรับในระดับโลก เราเคยขึ้นเป็นอันดับ1 ประเทศที่ฟื้นตัวจากวิกฤตได้เร็วที่สุดในโลก สถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกอย่างจอห์น ฮอปกินส์ ยกให้ไทย เป็น 1ใน 5 ประเทศที่มีความเข้มแข็งมั่นคงด้านสุขภาพมากที่สุด ในโลก สื่อนานาชาติ ยกให้ไทยมีความโดดเด่นในเรื่องของการจัดการภาวะระบาด  และในการประชุมครั้งนี้ หลายชาติ ต่างก็ยกย่องไทยว่า มีความยอดเยี่ยมในเรื่องของระบบสาธารณสุข ถึงขั้นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพ ของสหรัฐฯนายฮาเวียร์ บิเซียร์รา (Xavier Becerra) ได้เข้ามาขอบคุณ ที่ประเทศไทย เอาใจใส่พลเมืองสหรัฐฯ ที่อาศัยในประเทศ และให้บริการวัคซีนอย่างครบถ้วน

นายอนุทิน ยกความดี ความชอบเหล่านี้ ให้กับประชาชนทุกคน ไปจนถึงบุคลากรการแพทย์ และทุกคน ที่ทุ่มเทเสียสละ กระทั่งประเทศไทย สามารถก้าวข้ามวิกฤต โดยที่ไม่เจ็บช้ำมากนัก เมื่อเทียบกับหลายๆประเทศ เขากล่าวว่า 

“ไทยเรามี คนไทย เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของความสำเร็จในการรับมือกับโควิด เรามีการดูแลซึ่งกันและกันผ่านเครือข่าย อสม. และมีความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในระดับที่สูงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรารับมือกับโรคระบาดต่างๆได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพของประชาชนโดยรัฐบาลนั้นเป็นไปในรูปแบบ การใส่ใจอย่างเต็มที่เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยและมีสุขภาพดี เราจึงได้มีความพร้อมทางด้านการสาธารณสุขเป็นอันดับต้นๆของโลก”

ความสำคัญของการที่ไทยได้เป็น CENTER ของ ศูนย์จัดการสภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพของอาเซียน นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรมว.สาธารณสุข ให้คำอธิบายไว้ ดังนี้ 

“มันเป็นการยืนยันว่าประเทศไทย ยังได้รับความเชื่อมั่นด้านการจัดการระบบสุขภาพ จากประเทศสมาชิกในภูมิภาค และความเชื่อมั่นนี้ มันไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากการสั่งสมความสำเร็จ ไปจนมาในช่วงวิกฤติโควิด -19 ที่ไทย สามารถรับมือได้อย่างชาญฉลาด เราคือประเทศที่ WHO ยกให้เป็นต้นแบบในการรับมือกับโรค เราไม่ปล่อยให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งทะยานจนเกินรับไหว กลับกัน เราเข้าใจธรรมชาติของโรค เราควบคุมการระบาด โดยอนุญาตให้เศรษฐกิจยังเดินไปได้ด้วย 

ภารกิจของ กระทรวงสาธารณสุขปัจจุบัน เราไม่ได้มองเฉพาะเรื่องของสุขภาพประชาชน แต่งานของเรามุ่งเน้นสร้างอิมแพ็กในเรื่องเศรษฐกิจปากท้องด้วย นายอนุทินต้องการเห็นคนไทยกลับมามีชีวิตเป็นปกติมากที่สุด เราเจ็บกับโควิด-19 มามากพอ จนถึงเวลาต้องคืนชีพเศรษฐกิจไทยแล้ว”

การได้ตั้งศูนย์ ACPHEED จึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องการันตีประสิทธิภาพ ด้านการดูแลสุขภาพคนในชาติแต่มันยังเป็นเครื่องการันตี ที่ส่งไปถึงนานาชาติ ว่าไทย มีความพร้อมเป็นอย่างยิ่ง ในเรื่องของระบบจัดการด้านสาธารณสุข ซึ่ง นับเป็นปัจจัยบวก ต่อการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่โลก ยังบอบช้ำกับโควิด – 19 ปัจจุบัน ชัดเจนว่า กระทรวงสาธารณสุข คือ หน่วยงานหนึ่ง ที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาปากท้อง เช่นที่ นายวัชรพงศ์ กล่าวว่า “เราเจ็บกับโควิด-19 มามากพอ จนถึงเวลาต้องคืนชีพเศรษฐกิจไทยแล้ว” 

กับนายอนุทิน การเดินทางไปบาหลีครั้งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องของการพักผ่อน แต่มันคือเรื่องของชาติบ้านเมืองและทุกคนที่ไป ล้วนแบกรับความคาดหวังของทุกคนในประเทศ ที่อุตส่าห์สู้อดทน จนไทยก้าวพ้นวิกฤตด้านสุขภาพครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี และ มีผลงานด้านสาธารณสุข น่าพอใจ เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก นี่คือ เครื่องยืนยันความเข้มแข็งของระบบสุขภาพไทย ที่นายอนุทิน แบกไว้บนหลัง แล้วค่อยๆ นำมาโชว์ให้ชาติอาเซียนประจักษ์ ถึงความเหมาะสม ที่ไทยจะได้รับเลือกเป็นศูนย์กลางด้านการรับมือเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพ เพราะเรามีทั้งประสบการณ์ และเรามีทั้งความสำเร็จ มาโชว์ให้เห็น 

สำหรับนายอนุทิน ที่ให้ความสำคัญกับการร่วมแรงร่วมใจ ร่วมไม้ ร่วมมือ ของพี่น้องคนไทย ในการฝ่าฟันปัญหาโควิด-19 ซึ่งเป็นการชื่นชมที่แสดงออกผ่านคำขอบคุณ ในทุกครั้งที่มีการถามถึงความสำเร็จด้านการควบคุมโรคของไทย ก็ชัดเจนว่า คำว่า “ทีมไทยแลนด์” นั้น มิได้เพียงการเอ่ยอ้างถึงคณะทำงานของกระทรวงคุณหมอ ที่ผลักดันจนไทยได้เป็นศูนย์กลางของ ACPHEED  แต่ยังมีความหมายถึง “พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน” ที่ทุ่มเทเสียสละ  ช่วยเหลือกัน และกัน  นี่คือ ปัจจัยสำคัญ ที่นายอนุทิน ยกเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จด้านการสาธารณสุขของไทย ตัวจริง  

Related Posts

Send this to a friend