POLITICS

‘เศรษฐา’ หนุนแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ – สั่ง ‘อนุทิน’ ดูแลเด็กไม่มีเอกสารทางทะเบียน 126 คน

‘เศรษฐา’ หนุนแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ – สั่ง ‘อนุทิน’ ดูแลเด็กไม่มีเอกสารทางทะเบียน 126 คน หนูน้อยส่งหนังสือวอนนายกฯ ขอกลับเข้าเรียนในไทย เผยอยากพูด-อ่านภาษาไทย ‘พ.ต.อ.ทวี’ รมว.ยุติธรรม เผย เตรียมตั้งคณะทำงานร่วม มหาดไทย-ยุติธรรม เร่งให้สัญชาติไทยกลุ่มที่ตกหล่น

วันนี้ (15 ก.ย. 66) ที่ลานอเนกประสงฆ์ หน้าสถานีตำรวจภูธรแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย อดีตเด็กนักเรียนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จำนวน 20 คนพร้อมผู้ปกครอง ได้เดินทางข้ามแดนจากประเทศพม่ามายื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้ความเป็นธรรมภายหลังจากที่เด็กนักเรียน 126 คนที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎรถูกผลักดันกลับประเทศพม่าและต้องหลุดจากระบบการศึกษาไทยโดยมีนางกัลยา ทาสม ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ซึ่งเดินทางมารวบรวมเอกสารในการหาช่องทางช่วยเหลือให้เด็กกลุ่มนี้ได้เรียนต่อ

น.ส.หมี่รอง ชาวอาข่าซึ่งเป็นพี่สาวและผู้ปกครองของ ดญ.ฟ้าใส 1 ในอดีตเด็กนักเรียน 126 คน รร.ไทยรัฐวิทยา 6 กล่าวว่า กว่า 3 เดือนแล้วที่น้องสาวของตนไม่ได้เรียนหนังสือหลังจากถูกส่งตัวกลับจาก จ.อ่างทอง แม้ในหมู่บ้านที่พวกตนอาศัยอยู่มีโรงเรียนอยู่ แต่ก็ยังอยากให้น้องได้เรียนในฝั่งไทย เพราะจะได้ฝึกพูดภาษาไทยด้วยเพราะมีผลต่อโอกาสการทำงานในบริเวณชายแดน อ.แม่สายและเมืองท่าขึ้นเหล็ก ฝั่งพม่า

ขณะที่อดีตเด็กนักเรียนวัย 12 ปีซึ่ง 1 ใน 126 คนที่ถูกผลักดันกลับพม่า กล่าวว่าตั้งแต่ถูกผลักดันกลับมาอยู่บ้านในพม่า ตนก็ไม่ได้เรียนต่อและยังหวังว่าจะได้กลับไปเรียนที่ฝั่งไทย ตอนที่เรียนอยู่ รร.ไทยรัฐวิทยา 66 รู้สึกสนุกมากเพราะมีเพื่อนและครูที่ดี ถ้าเป็นไปได้อยากกลับไปเรียนที่นั่นอีก

“หนูมีพี่น้อง 3 คน พ่อแม่ทำนา พี่ชายคนโตไปเรียนที่เมืองอื่น แต่หนูและพี่ชายไปเรียนที่โรงเรียนไทยรัฐมาแล้ว 1 ปี เรารู้สึกเสียใจมากเมื่อรู้ว่าต้องถูกส่งตัวกลับบ้านในเมืองท่าขี้เหล็ก เพราะยังอยากเรียนหนังสือต่อ” ดญ.รายนี้กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้ามีโอกาสพบนายกรัฐมนตรี จะบอกอะไรท่าน อดีตเด็กนักเรียน รร.ไทยรัฐวิทยา 6 กล่าวว่า “อยากขอความเมตตาจากท่าน หนูอยากเรียนโรงเรียนที่ไทย อยากเรียนภาษาไทย อยากพูดภาษาไทยได้ ตอนนี้หนูต้องอยู่บ้าน ไม่มีโอกาสได้เรียน”

ขณะที่นางกัลยา ทาสม ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 กล่าวว่าไม่ทราบมาก่อนล่วงหน้าว่านายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางมาลงพื้นที่ อ.แม่สาย ซึ่งตนได้มารวบรวมเอกสารเพื่อหาช่อทางให้เด็กๆได้ศึกษาต่อเพราะผ่านไปแล้ว 3 เดือนที่เด็กๆ 126 คนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ทั้งๆ ที่มีอยู่ 54 คนที่ได้รหัส G แล้ว บางคนเมื่อถูกผลักดันกลับประเทศเพื่อนบ้านแล้วก็กลับมาฝั่งไทยอีกเพราะต้องการเรียนหนังสือ แต่มีเพียง 6 คนเท่านั้นที่ได้เรียนในระบบ และอีก 12 คนเรียนที่ศูนย์การเรียน

“ที่น่าเสียใจแทนเด็กๆ คือหลายโรงเรียนปฏิเสธที่จะรับเด็กกลุ่มนี้เข้าเรียน เพราะกลัวว่าจะมีปัญหาเนื่องจากคดีอยู่ในระหว่างการฟ้องร้อง เราพยายามสร้างโอกาสการศึกษาให้พวกเขา จึงอยากขอความเป็นธรรมกับนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้โรงเรียนรับเด็กๆ เหล่านี้เข้าเรียน” นางกัลยา กล่าว

ทั้งนี้หนังสือที่เด็กๆ และนางกัลยาร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับนายกรัฐมนตรีระบุว่าได้มีการตรวจสอบเอกสารนักเรียนจากหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานทางปกครองหลายหน่วยงานและระบุว่าเด็กเหล่านี้ไม่มีเอกสารทะเบียนราษฎร์และไม่มีสัญชาติไทย พร้อมทั้งผลักดันออกนอกประเทศทั้งหมด โดยมีการตั้งข้อกล่าวหาในการดำเนินคดีกับผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู และกรรมการสถานศึกษา จำนวนทั้งหมด 5 คน

ต่อมา เวลา 15.00 ที่ห้องประชุม อาคารที่ตรวจปล่อยสินค้าและชำระค่าภาษีอาการ ด่านอำเภอแม่สาย นายเศรษฐา พร้อมรัฐมนตรี ได้รับฟังข้อมูลจากข้าราชการและภาคประชาสังคม ทั้งนี้นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้นำเสนอเกี่ยวกับประเด็นคนไร้สัญชาติ โดยระบุว่าหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา (พ.ศ. 2564) ส่งผลให้มีผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้หนีภัยความไม่สงบ แรงงานข้ามชาติ เด็กที่แสวงหาโอกาสในการศึกษา ฯลฯ ปัจจุบันจำนวนประชากรผู้ย้ายถิ่น (migrant population) และคนไร้สัญชาติในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

นางเตือนใจกล่าวว่า ในขณะที่อีกกลุ่ม คือชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นคนดั้งเดิม เกิดในประเทศไทย หรือเข้ามามีภูมิลำเนาบนแผ่นดินไทยนาน 30-60 ปี กลมกลืนกับสังคมไทย มีลูกหลานเป็นบุคคลสัญชาติไทย

ข้อมูลของสำนักทะเบียนกลาง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ระบุว่ามีบุคคลที่ไร้สัญชาติจำนวน 983,994 คน แต่สถิติการให้สัญชาติบุคคลกลุ่มต่างๆ ช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2566 ของสำนักบริหารการทะเบียน ให้สัญชาติได้ 7,016 คน จาก 483,383 คน หรือคิดเป็นเพียง 1.45 % เท่านั้น

อดีตสมาชิกวุฒิสภากล่าวว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติ ไม่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วนัก เนื่องมาจากข้อจำกัดต่างๆ อาทิ อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ของสำนักทะเบียนระดับอำเภอ ในขณะที่ระดับจังหวัดกลับไม่มีสำนักทะเบียน แต่เป็นเพียงงานในฝ่ายปกครองจังหวัด ส่วนระดับกรมการปกครอง ก็มีอัตราบุคลากรและงบประมาณไม่เพียงพอกับการแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง

นางเตือนใจกล่าวว่า กลุ่มคนไร้สัญชาติที่เปราะบางที่สุด ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุไร้สัญชาติ “ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ” อายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 110,000 คน (ข้อมูล ณ มกราคม 2564) โดยมีทั้งที่เป็นชนกลุ่มน้อย และต่างด้าวทั่วไปการผลักดันแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาสามารถลดขั้นตอนการพัฒนาสถานะบุคคลให้ผู้เฒ่าไร้สัญชาติได้รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้แก่ชราไปทุกวัน การล่าช้าของกระบวนการพิจารณารับรองสัญชาติ ทำให้โอกาสในชีวิตของผู้เฒ่าต้องสูญเสียไป พบว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คนในช่วงการดำเนินการยื่นคำร้อง

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเด็กในบริบทการโยกย้ายถิ่นฐาน โดยเฉพาะจากแนวชายแดน ไทย-เมียนมา องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ระบุว่าปี 2561 มีเด็กเข้ามาสู่ประเทศไทย ประมาณ 4 แสนคน แต่ได้รับการลงทะเบียนประมาณ 1.5 แสนคน ที่เหลือตกเป็นคนไม่มีสถานะทางทะเบียน โอกาสทางการศึกษาในประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่เด็กโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งสิทธิในการศึกษาของเด็กทุกคนได้รับการรับรองตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 รัฐไทยมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ให้แก่เด็กทุกคน โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพทางกฎหมายและเชื้อชาติ ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่เพื่อนบ้านโดยตลอดมา ได้รับความชื่นชมในระดับนานาชาติการคุ้มครองสิทธิเด็กและเข้าถึงการศึกษา ก็จะสามารถสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของไทยและเพื่อนบ้าน ส่งผลดีในระยะยาวทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

นางเตือนใจกล่าวว่า ข้อเสนอนโยบายที่ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวาระของรัฐบาลชุดนี้ การนำมติคณะรัฐมนตรี 1 ตุลาคม 2562 ที่เห็นชอบคำมั่นของไทยที่ประกาศในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ในวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองเพื่อพัฒนากระบวนการแก้ไขปัญหา คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พัฒนาเป็นยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติระดับชาติ โดยเน้นการพัฒนาสถานะและสิทธิของกลุ่มเปราะบางคือ ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ และเด็กในบริบทการโยกย้ายถิ่นฐาน ให้ได้สิทธิ รับการคุ้มครองและให้ได้สิทธิในการศึกษา

นางเตือนใจกล่าวว่า แก้ไขโครงสร้างหน่วยงานของกรมการปกครอง จังหวัด อำเภอ สนับสนุนอัตรากำลัง และงบประมาณให้เพียงพอ เพื่อให้ยุทธศาสตร์และแผนการแก้ไขปัญหาคนไร้ รัฐไร้สัญชาติ สำเร็จลุล่วงด้วยดีทบทวน/แก้ไขกฎหมาย หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ขั้นตอนและกรอบเวลา ในกระบวนการรับรองสัญชาติสำหรับผู้ที่เกิดในประเทศไทยและ การให้สถานะคนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย การให้สัญชาติไทย แก่ ชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ ที่จัดทำทะเบียนประวัติ ไว้แล้วตามมติคณะรัฐมนตรีในอดีต และตามกฎหมาย ว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้กระชับและรวดเร็วกว่าเดิม และนำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริม วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มาพิจารณาโดยเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้รัฐพึงส่งเสริม และให้ความคุ้มครอง ชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิ ดำรงชีวิต ในสังคมตามวัฒนธรรม วิถีชีวิตดั้งเดิม อย่างสงบสุข มีสิทธิอาศัยและใช้ประโยชน์ที่ดินที่ทับซ้อน กับพื้นที่อนุรักษ์ มีส่วนร่วมในการ ตัดสินใจ ในกิจการของรัฐหรือเอกชน ที่นี่อาจกระทบต่อวิถีชีวิต และชุมชน

นายเศรษฐา กล่าวในที่ประชุมถึงประเด็นที่นางเตือนใจนำเสนอว่ามติคณะรัฐมนตรี 1 ตุลาคม 2562 (เกี่ยวกับการแก้ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่เสนอให้จัดทำเป็นแผนปฏิบัติการระดับชาติ) จะให้กองเลขานำไปดำเนินการและดูว่ามีปัญหาติดขัดตรงไหน สำหรับเรื่องจำนวนพนักงานไม่เพียงพอ เป็นปัญหาโลกแตกที่ทุกหน่วยงานประสบปัญหาอยู่เรื่องนี้เข้าใจ ส่วนผู้ที่ควรได้รับสิทธิอยู่แล้วก็จะดูให้ สำหรับตัวกฎหมาย ผู้เฒ่าที่อายุมากอยู่มานานแล้ว เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจจริงๆ เรื่องสิทธิการเข้าถึงระบบสาธารณสุขเป็นประเด็นสำคัญ จะรับไปดูให้ และเรื่องนักเรียน สิทธิในการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นสิ่งที่ทำให้ประกอบอาชีพได้

นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาภายในพื้นที่แม่สาย บริเวณชายแดนไทยเมียนมาที่ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยนั้น ว่า เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน ต้องดูให้ครบทุกมิติ ซึ่งเวลาแก้ปัญหาก็ต้องดูเป็นเรื่อง ๆ ไป ส่วนกรณีเด็กนักเรียน 126 คน ที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร์ ต้องถูกส่งตัวกลับไปที่ประเทศเมียนมา ว่า เป็นเรื่องสำคัญ ก็ต้องติดตาม โดยได้มอบหมายงานให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้จัดการดูแล ส่วนเรื่องของแก็งคอลเซ็นเตอร์ ตนเองยังไม่ทราบเรื่อง

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่าปัญหาเด็กไร้สัญชาตินั้นที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมได้ดูแลร่วมกัน โดยส่วนใหญ่กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตามอาจมีความชักช้าบ้าง เช่น ที่อำเภอทองผาภูมิ แต่เมื่อดีเอสไอ สถาบันนิติวิทยาและ กรมคุ้มครองสิทธิส่งเจ้าหน้าที่เข้าไป สามารถทำได้ 300 คนภายใน 2 วัน ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกัน เพื่อลดขั้นตอนการให้สัญชาติ และทำกระบวนการให้สัญชาติได้รวดเร็วขึ้น

Related Posts

Send this to a friend