POLITICS

‘สว.คำนูณ’ ห่วงรัฐบาลออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท อาจขัดรัฐธรรมนูญและวินัยการเงินการคลัง

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติกู้เงิน 500,000 ล้านบาท ดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่ายังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งตนไม่ได้มีประเด็นขัดแย้งด้านหลักการ เพียงแต่เมื่อรัฐบาลจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน จะมีความเป็นห่วงว่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

การกู้เงิน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 140 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 ระบุว่า การออกกฎหมายพิเศษกู้เงิน กระทำได้เฉพาะกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อแก้วิกฤติของประเทศ โดยไม่สามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน หากเข้า 4 เงื่อนไข จึงจะสามารถออกกฎหมายพิเศษกู้เงินได้ โดยขณะนี้ ยังอยู่ในกระบวนการ พิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ซึ่งจะเข้าสู่รัฐสภาในเดือนธันวาคม ดังนั้น การบรรจุเงินที่จะใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตลงไปในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จะปลอดภัยกว่า และอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ทัน

ทั้งนี้ การที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แล้วออก พ.ร.บ.กู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท เห็นว่าจะเป็นการเสี่ยงต่อการขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53

ส่วนอีก 3 เงื่อนไข เรื่องความจำเป็นเร่งด่วน ถือเป็นปัญหาเช่นกัน หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ก็เลือกออกพระราชกำหนด แต่การออก พ.ร.บ.ต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์ กว่าจะผ่านกระบวนการของสภาก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน มองว่าโครงการดังกล่าวไม่ใช่โครงการที่ต้องใช้เงินอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการใช้เงินครั้งเดียวกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนจะเป็นการแก้ไขวิกฤติของประเทศหรือไม่ นายคำนูณ ระบุว่า ตนขอไม่ก้าวล่วง เพราะมีความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์แบ่งออกเป็นสองทาง และความเห็นของรัฐบาลที่มองว่าจีดีพีประเทศโตต่ำเกินไปอย่างต่อเนื่อง และต่ำกว่าประเทศอื่นเมื่อเปรียบเทียบแล้วถือเป็นวิกฤติของประเทศ ซึ่งตนก็เคารพความเห็นของรัฐบาล เพราะรัฐบาลได้รับการเลือกตั้งมา และเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้ จึงมองว่าประเด็นนี้สามารถถกเถียงกันได้

นายคำนูณ ยังกล่าวว่า เมื่อเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลเคยชี้แจงต่อ กกต.เรื่องที่มาของเงินสรุปโดยรวมว่า มาจากเงินงบประมาณ แต่ล่าสุดจะใช้เงินนอกงบประมาณด้วยการออกกฎหมายกู้เงิน หากเป็นไปตามกฎหมายก็ไม่มีความขัดข้อง แต่เป็นห่วงว่าจะไม่ตรงตามข้อกฎหมาย เพราะการที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าจะขอความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงต้องรอว่า ครม.จะขอความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างไร และคณะกรรมการกฤษฎีกาจะตอบอย่างไร รวมถึง ครม.จะมีมติเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อรัฐสภาหรือไม่ จากนั้นต้องดูว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน มีลักษณะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

นายคำนูณ กล่าวยอมรับว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 เป็นเรื่องใหม่ แตกต่างจากรัฐธรรมนูนฉบับก่อนที่เพิ่มการจ่ายเงินแผ่นดินตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐเข้ามาฉบับหนึ่ง ซึ่งกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐก็มีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2561 ตามมาตรา 53 หากถามว่าออกกฎหมายกู้เงินได้หรือไม่ คำตอบคือได้ แต่เฉพาะกรณีตามที่ 4 เงื่อนไขเร่งด่วน คือ ต่อเนื่อง แก้วิกฤติ และตั้งงบไม่ทัน ตนเห็นว่าข้อสุดท้ายสำคัญสุด เพราะขณะนี้งบประมาณปี 2567 ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ

นายคำนูณ ระบุว่า ในอดีตเคยมีปัญหาการใช้เงินนอกงบประมาณ เช่น โครงการไทยเข้มแข็ง สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2552 จนถึงพรรคเพื่อไทยในปี 2554 และ 2556 จึงเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญมาตรา 140 และกฎหมายวินัยการเงินการคลัง

เมื่อถูกถามว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤติจนต้องออก พ.ร.บ.กู้เงินใช่หรือไม่ นายคำนูณ ระบุว่า เรื่องนี้เถียงกันได้ นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่วิกฤติของประเทศ แต่รัฐบาลมองว่าการที่จีดีพีโตต่ำเป็นวิกฤติ ดังนั้น ตนไม่อาจก้าวล่วงว่าใครถูกใครผิด แต่สิ่งที่เห็นว่าเป็นปัญหา คือ การเลือกแนวทางออก พ.ร.บ.กู้เงิน จะไม่เข้าตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ครบ 4 เงื่อนไข

หากรัฐบาลดึงดันออก พ.ร.บ.กู้เงินต่อไป จะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายวินัยการเงินการคลังหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ไม่ขอใช้คำว่าดึงดัน แต่มองว่าเป็นเจตนาดีต่อประเทศ และขอให้เครดิตนายกรัฐมนตรีที่เลือกวิธีนี้ แต่จะไปได้หรือไม่ ต้องรอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล

นายคำนูณ ระบุถึงบทลงโทษหากมีการกระทำผิดตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังว่า มาตรา 245 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติขั้นตอนไว้ว่า ให้ผู้ว่าฯ สตง. ทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการ สตง. หากคณะกรรมการเห็นด้วย ให้จัดตั้งคณะกรรมการองค์กรอิสระสามหน่วยงาน ได้แก่ สตง. กกต. และ ป.ป.ช. หากมีความเห็นสองในสามว่าเข้าข่ายกระทำผิด ให้ส่งรายงานเสนอไปยัง ครม. สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา พร้อมเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งไม่ได้บอกให้ยกเลิก แต่เป็นกลไกตามรัฐธรมมนูญ ที่จะทำให้กฎหมายวินัยการเงินการคลังมีความศักดิ์สิทธิ์และปฏิบัติได้

Related Posts

Send this to a friend