POLITICS

นายกฯ รุดดูแผนระบายน้ำพรหมพิราม พบปัญหาสะสม หวัง 4 ปีระบบบูรณาการน้ำสำเร็จ

วันนี้ (14 ต.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมและติดตามสถานการณ์น้ำ ณ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หอกลอง ตำบลหอกลอง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เพื่อพูดคุยปัญหาการระบายน้ำ และการวางแผนเพิ่มสถานีสูบน้ำ

เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึง ได้เดินทักทายประชาชนอย่างอารมณ์ดี และรับฟังปัญหาการขาดแคลนน้ำและน้ำท่วม ในระหว่างนั้นมีประชาชนถือป้ายเรียกร้องเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยนายเศรษฐาได้ นำป้ายดังกล่าวมาถือ ที่มีข้อความระบุว่า “อยากให้ถึงเดือนกุมภา อยากใช้เงินดิจิตอล 10,000 บาท” ทำให้เรียกเสียงเฮฮาจากประชาชน ที่มาให้การต้อนรับอย่างคึกคัก

นายเศรษฐา ได้กล่าวกับประชาชนว่า วันนี้เห็นอยู่ว่ามีรัฐมนตรีมาครบ รวมถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็มาด้วย ปัญหาเรื่องน้ำท่วมเป็นปัญหาใหญ่ เข้าใจว่ามีพื้นที่ลุ่มอยู่เยอะมาก เมื่อฤดูฝนมาถึง น้ำก็เยอะ ประตูระบายน้ำก็ไม่เพียงพอ จึงได้สั่งการเจ้าหน้าที่ ให้ระวังพื้นที่สุ่มเสี่ยง และดูแลพี่น้องประชาชนทุกคนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนจะสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจสอบพื้นที่ที่อาจจะทำแก้มลิงได้เพิ่มเติม เพื่อรองรับน้ำในฤดูฝน และเป็นที่เก็บน้ำสำหรับใช้ในฤดูแล้งด้วย

นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงแนวทางการทำงานของรัฐบาลต่อไปว่า จะต้องไม่ท่วมไม่แล้ง และแนวทางหนึ่งที่จะป้องกันน้ำแล้งได้ คือการทำธนาคารน้ำใต้ดิน หากประชาชนในพื้นที่สนใจ จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ซึ่งแนวทางนี้จะใช้เวลาเพียงไม่นาน 3 เดือนก็ดำเนินการได้

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่รอต้อนรับ ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ด้วย ก่อนที่จะให้สัมภาษณ์ว่า น้ำประปาในการอุปโภคบริโภคของจังหวัดพิษณุโลกเป็นเรื่องใหญ่ เพราะท่อที่มีอายุกว่า 87 ปีนั้น มีน้ำประปาไปถึงประชาชนแค่ 52% ก็น่าเห็นใจ ก็จะไปดูเรื่องการบริหารจัดการน้ำตรงนี้ให้ดี

นายเศรษฐา กล่าวถึงสภาพปัญหาน้ำในพื้นที่อำเภอบางระกำว่า เรื่องคลองส่งน้ำก็ยังไม่ดีพอ พอฤดูฝนน้ำก็ท่วม ฤดูร้อนก็แล้ง หน้าที่รัฐบาลคือ ต้องทำให้ไม่ท่วมไม่แล้ง ส่วนตัวได้มีสอบถามกรมวิชาการเกษตร เรื่องการให้องค์ความรู้กับเกษตรกร เกี่ยวกับเรื่องความเป็นกรดเป็นด่างปุ๋ยในดินมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยเหลือเกษตรกร ถ้ามีผลิตภัณฑ์ทางด้านการเกษตรที่มากขึ้นและค่าใช้จ่ายที่น้อยลง

นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงแนวความคิดเรื่องธนาคารน้ำใต้ดิน ที่จะป้องกันน้ำแล้ง ซึ่งคาดว่าจะทำได้ภายใน 3 เดือนนั้นว่า ทฤษฎีน้ำใต้ดินเป็นทฤษฎีที่หลายภาคส่วนเห็นด้วย แต่ก็ต้องถามพื้นที่ว่าต้องการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยหรือไม่ โดยจะมีการนำร่องที่จังหวัดชัยนาท จะมีการทำธนาคารน้ำใต้ดินทั้งจังหวัด แล้วก็จะดูว่าจะสามารถช่วยไม่ท่วมไม่แล้งได้จริงหรือไม่ทั้งนี้ หากในพื้นที่เห็นด้วยก็พร้อมที่จะไปทำได้

นายเศรษฐา กล่าวให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่ว่า ก็เห็นใจ เพราะบางพื้นที่ท่วมแล้วท่วมอีก แล้งแล้วแล้งอีก ต้องมีการแก้ไขอย่างบูรณาการ รัฐบาลก็เพิ่งเข้ามาบริหารจัดการได้เพียงเดือนเดียว ดังนั้น ก็ต้องทำงานต่อไป

ผู้สื่อข่าวยังถามถึงความมั่นใจจากการลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมในครั้งนี้ว่า ปีนี้พื้นที่ภาคกลางจะไม่มีน้ำท่วมยาว นายเศรษฐา ตอบว่า ไม่มั่นใจ เพราะเพิ่งเข้ามาได้เดือนเดียว และเห็นถึงปัญหาว่าสะสมมานาน แต่ก็จะช่วยบรรเทาพื้นที่ที่มีการท่วม ทั้งนี้ ต้องคิดระยะกลาง ระยะยาว ว่าปีหน้าจะทำอย่างไร อีก 3 ปีจะทำอย่างไร ก็คงต้องมีโครงการออกมาอีกพอสมควร

ส่วนโอกาสที่จะจัดทำระบบบูรณาการน้ำสำเร็จในวาระรัฐบาล 4 ปี นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็อยากเห็นเพราะระยะเวลา 4 ปี ก็เป็นระยะเวลาที่ยาวพอสมควรบางโครงการก็บอกว่าจะทำในปี 2567 ถ้าหลายโครงการเริ่มต้นได้เร็ว ผ่านงบประมาณแล้วก็อยากให้เร่งทำ เพราะเวลาคนเดือดร้อนก็คือเดือดร้อน

นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงกระแสตอบรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของประชาชนว่า ทุกเสียงของประชาชนถือว่าเป็นเสียงที่เราต้องฟัง รวมถึงเสียงของผู้ที่คัดค้าน แนะนำว่าควรจะปรับปรุงอย่างไรให้เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ก็อยากจะฟังเสียงทุกๆ เสียง ไม่ใช่ว่าจะไม่ฟังใครหรือไม่น้อมรับคำเตือน

ผู้สื่อข่าวยังถามว่า ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานจนถึงวันนี้ มองภาพรวมการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง นายเศรษฐา ตอบว่า หากให้มองตัวเอง แล้วบอกว่าตัวเองทำงานเป็นอย่างไรบ้าง คงไม่เหมาะสม ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินดีกว่า ส่วนตัวหวังว่า จะได้รับความเป็นธรรม เพราะเราทำงานหนัก ทำงานทุกวันเสาร์-อาทิตย์ รัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และพยายามที่จะหาทางออกระยะสั้นให้กับประชาชน เรื่องค่าใช้จ่ายทั้งค่าไฟฟ้า น้ำมันดีเซล เกษตรกรที่เดือดร้อนเราก็มีการพักหนี้ และจะมีนโยบายเข็นออกมาอีกเรื่อยๆ

Related Posts

Send this to a friend