POLITICS

‘จุรินทร์‘ สนับสนุนเพิ่มความคุ้มครองประมุขของประเทศ

ฝาก กมธ.นิรโทษกรรม เว้นนิรโทษ ม.112 ติงนายกฯ ดำเนินการล่าช้าเกินไป กล่าวถวายกำลังใจกรมสมเด็จพระเทพฯ

วันนี้ (14 ก.พ. 67) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อเพิ่มการถวายอารักขาต่อขบวนเสด็จฯ ด้วยเหตุผลที่ว่า เนื่องจากตนเองและพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนชัดเจน ในเรื่องของการให้ความสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีจุดยืนในการที่จะต้องการธำรงไว้ซึ่งบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองประมุขของประเทศ เช่น มาตรา 112 อย่างที่อารยะประเทศทำกัน และมีจุดยืนในการถวายความปลอดภัย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ซึ่งการถวายความปลอดภัยนับตั้งแต่องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป รวมถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ ซึ่งการถวายความปลอดภัยให้กับบุคคลเหล่านี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์คุกคามขบวนสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อันเป็นที่เคารพรักยิ่งของคนไทยทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เวลา 18:20 น. จึงเป็นเหตุที่ตนเองและสมาชิกจำเป็นต้องเสนอญัตตินี้เข้ามา และไม่อาจจะเพิกเฉยต่อการกระทำดังกล่าวได้

นายจุรินทร์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของญัตติมี 2 ประการคือ 1.ประสงค์ให้สภาผู้แทนราษฎรได้ทีมติให้ส่งความเห็น ของสภาฯ เพื่อให้รัฐบาลรับไปพิจารณาดำเนินการ 2. ประสงค์ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของสภาผู้แทนราษฎรรับไปประกอบการพิจารณาด้วย

ทั้งนี้ ตนมีความเห็นต่อพฤติกรรมคุกคามกระบวนเสด็จอย่างน้อย 3 ข้อ คือ 1.ตนถือว่าเป็นการกระทำอันไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง เกินกว่าที่คนไทยผู้จงรักภักดีจะยอมรับได้ และเป็นการย่ำยีพระผู้เป็นดวงใจของประชาชน

2.การที่ขบวนเสด็จไม่ปิดถนนยิ่งสะท้อนพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรอย่างชัดแจ้ง เป็นประจักษ์เหนือคำบรรยายใดๆ แม้จะต้องทรงงานหนัก และต้องเสด็จให้ทันเวลาก็ตาม

3.ตนเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยคือหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่การใช้สิทธิเสรีภาพต้องไม่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใครฐานันดรใด แล้วต้องใช้สิทธิเสรีภาพที่มีอยู่ภายใต้ขอบเขตของตัวบทกฎหมาย เฉกเช่นอารยะประเทศทุกประเทศในโลกนี้ที่เขาทำกัน

นอกจากนี้ ผู้มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยนอกจากส่วนราชการในพระองค์แล้ว กลไกสำคัญคือรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่มีชื่อว่าพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 มาตรา 6 ระบุว่าให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งซึ่งประกอบด้วยกระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น มีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัย หรือร่วมมือในการถวายความปลอดภัย

“ผมไม่ประสงค์จะทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องการเมือง แต่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและในฐานะผู้สั่งปฏิบัติราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องยอมรับว่าท่านออกมาส่งสัญญาณแสดงท่าทีความรับผิดชอบค่อนข้างช้า เหตุเกิดวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 และวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 เกิดเหตุปะทะกันที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม จนวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 หลังจากเกิดเหตุ 7-8 วันนายกรัฐมนตรีจึงเรียกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงมาตรการเรื่องการรักษาความปลอดภัยของขบวนเสด็จ” นายจุรินทร์กล่าว

ดังนั้น ตนจึงขอเสนอข้อเสนอ 4 ข้อ เพื่อให้สภาได้โปรดพิจารณา 1. รัฐบาลต้องตระหนักในหน้าที่การถวายความปลอดภัยตามกฎหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งให้เป็นไปด้วยความปลอดภัยสมพระเกียรติ ด้วยความสำนึก กระตือรือร้น จงรักภักดี แล้วควรเร่งรัดดำเนินการทบทวนมาตรการเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

2.รัฐบาลแม้เป็นหน้าที่อยู่แล้ว ก็ย้ำว่าให้รัฐบาลยึดหลักนิติธรรม บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ว่ากับฝ่ายใดเพื่อทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์และไม่เป็นการส่งเสริมการกระทำผิดกฎหมายอีกต่อไปในอนาคต

3.ในฐานะที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและทั้งในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม รัฐบาลต้องไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมความผิดในคดีมาตรา 112 เพราะนอกจากจะเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคต ยังเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เพิ่มเติมขึ้นมาอีก รวมทั้งเมื่อเกิดเหตุป่วนขบวนเสด็จยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าไม่ส่งเสริมให้นิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112

4.รัฐบาลควรจะได้ตั้งหลักพิจารณาร่วมกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องและพิจารณาทุกอย่างอย่างรอบคอบรอบด้าน ว่าสมควรจะมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ 2560 หรือไม่ โดยเพิ่มเติมให้มีการกำหนดบทลงโทษเป็นการเฉพาะต่อผู้ที่ละเมิดพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือเมื่อเกิดเหตุผู้บังคับใช้กฎหมายต้องนำบทบัญญัติกฎหมายอื่นมาเทียบเคียงบังคับใช้ เช่น มาตรา 112 มาตรา 116 เป็นต้น เรื่องนี้จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาว่าเหมาะสมสมควรหรือไม่ และจะดำเนินการในรูปแบบไหนอย่างไรต่อไป รวมทั้งการพิจารณาว่าจำเป็นจะต้องทบทวนกฎระเบียบมาตรการต่างๆเพิ่มเติมอีกด้วยหรือไม่

นายจุรินทร์ ย้ำว่า ทั้ง 4 ข้อนี้และเพื่อให้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืนสืบไป และในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งและในฐานะพสกนิกรชาวไทยผู้จงรักภักดีคนหนึ่ง เช่นเดียวกับคนไทยทั่วประเทศ ตนขอถวายกำลังใจแก่องค์สมเด็จพระเทพฯ ด้วยความจงรักภักดียิ่ง

Related Posts

Send this to a friend