POLITICS

กองทัพไทย-สหรัฐฯ จับมือจัดฝึกคอบร้าโกลด์ 2023

กองทัพไทย-สหรัฐฯ จับมือจัดฝึกคอบร้าโกลด์ 2023 ต้อนรับทหาร 30 ประเทศ เพิ่มยุทธวิธีอวกาศเป็นปีแรก ตอบสนองปรากฏการณ์นอกโลก

วันนี้ (14 ก.พ. 66) กองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประเทศไทย และคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย (JUSMAGTHAI) แถลงข่าวการฝึกร่วม/ผสมคอบร้าโกลด์ (COBRA GOLD) 2023 ครั้งที่ 42 กำหนดระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึง 10 มีนาคม 2566

พลเอก ธิติชัย เทียนทอง เสนาธิการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย กล่าวว่า การฝึกคอบร้าโกลด์ 2023 เป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทย และกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี

การฝึกคอบร้าโกลด์ 2023 ในปีนี้ มีประเทศเข้าร่วมทั้งสิ้น 30 ประเทศ ยอดผู้เข้าร่วมการฝึกฯ จำนวน 7,394 นาย โดยมีประเทศเข้าร่วมการฝึกหลักจำนวน 7 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย

ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือประชาชน จำนวน 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย และออสเตรเลีย

ประเทศในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ หรือ MPAT (Multinational Planning Augmentation Team) จำนวน 10 ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ แคนาดา ฝรั่งเศส มองโกเลีย เนปาล นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ฟิจิ สหราชอาณาจักร และบรูไน

ประเทศที่เข้าร่วมในโครงการสังเกตการณ์ฝึก (Combined Observer Liaison Team) : COLT) จำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว บราซิล ปากีสถาน เวียดนาม เยอรมนี สวีเดน สาธารณรัฐเฮลเลนิก คูเวต และศรีลังกา

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารที่ดี ระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึกฯ และเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการอำนวยการยุทธ์ร่วมและผสม โดยการประยุกต์ใช้กำลังรบในสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ อีกทั้งเพื่อฝึกการใช้ระเบียบปฏิบัติประจำกองกำลังผสมนานาชาติ

เนื่องจากสถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จึงได้กำหนดแผนการฝึกคอบร้าโกลด์ 2023 ให้กลับมาฝึกเต็มรูปแบบเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม กองทัพไทย ยังคงใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มข้น ประกอบด้วยการฝึกที่สำคัญ ดังนี้

​1. การฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) เป็นการฝึกอำนวยการยุทธ์ของกำลังรบขนาดใหญ่ เพื่อรองรับภัยคุกคามทุกรูปแบบ ในทุกมิติ (All Domain Operations) ได้แก่ ทางบก ทางทะเล ทางอากาศ ทางด้านไซเบอร์ และทางอวกาศ

สำหรับการฝึกด้าน Cyber เป็นการฝึกการวางแผน โดยเน้นวิธีการตรวจสอบภัยคุกคามเบื้องต้น และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ต่อระบบอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน

สำหรับในปีนี้ เป็นปีแรกในการนำการฝึกทางด้านอวกาศ เข้ามาร่วมในการฝึกการวางแผนของฝ่ายเสนาธิการร่วม/ผสม ​เพื่อให้สามารถเข้าใจถึงผลกระทบในส่วนของการฝึกด้านอวกาศ (Space) โดยนำผลกระทบจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอวกาศ ที่มีผลต่อการปฏิบัติการทางทหารในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ฝ่ายอำนวยการได้วางแผนรองรับ และใช้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น ปรากฏการณ์พายุสุริยะที่มีผลต่อระบบการสื่อสารสัญญาณดาวเทียม โดยมีหน่วยงานด้านอวกาศทั้งทางทหาร และพลเรือน ของไทย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ให้การสนับสนุนข้อมูล และการปฏิบัติในด้านต่าง ๆ

​2. ​โครงการช่วยเหลือประชาชน (Humanitarian Civic Assistance: HCA) ได้แก่ โครงการก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์สำหรับโรงเรียนในพื้นที่การฝึก จำนวน 6 พื้นที่ การฝึกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และบรรเทาภัยพิบัติ ประกอบด้วย การฝึกแก้ปัญหาบนโต๊ะ (HADR-TTX) ในหัวข้อบทบาททางทหาร ในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภายใต้กลไกการตอบสนองในระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ เพื่อเตรียมการฝึกสาธิตฯ (HADR-Demo) ซึ่งเป็นการฝึกสาธิตแนวทางในการปฏิบัติเป็นสถานี ได้แก่ การค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัย การแพทย์ฉุกเฉิน การส่งกลับสายแพทย์ สารเคมีรั่วไหล และการดับเพลิง ของประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการฝึกฯ

​3. การฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise: FTX) ประกอบด้วย การฝึกแลกเปลี่ยน CTX และการฝึกภาคสนามของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การฝึกการเข้าพื้นที่ปฏิบัติการ (Joint Forcible Entry Operations: JFEO) ประกอบด้วย การฝึกการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ การอพยพพลเรือนจากพื้นที่ความขัดแย้ง และการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง

นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การฝึกคอบร้าโกลด์ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของมิตรแท้ที่เราสืบทอดระหว่างกันมา นี่ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่เราฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาครบ 190 ปี ที่จะทำให้ประเทศของเราเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงยิ่งขึ้น

นายโรเบิร์ต ยกตัวอย่างประโยชน์ที่จะได้รับจากการฝึกคอบร้าโกลด์และการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ว่า การขนส่งสินค้าระหว่างกันเป็นไปได้อย่างเสรี การเดินทางระหว่างชาวไทยและชาวอเมริกันจะเป็นไปด้วยความปลอดภัย การตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติจะเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น

“เรารวมกันผ่านการทำงานและฝึกร่วมกันในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อสร้างภูมิภาคที่มั่นคงปลอดภัย ด้วยความเชื่อว่าไม่มีประเทศใดสามารถแก้ไขความซับซ้อนได้โดยลำพัง” เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าว

พันเอก เคอร์ทิส เลฟเลอร์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย (JUSMAGTHAI) ชี้แจงว่า การฝึกคอบร้าโกลด์เป็นประจำทุกปี จะช่วยให้ตอบสนองต่อภัยพิบัติและช่วยชีวิตผู้คนได้อย่างดี โดยในครั้งนี้ สหรัฐอเมริกาจะส่งกำลังพลกว่า 6,000 นายเข้าสู่การฝึก ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนว่าการฝึกคอบร้าโกลด์ได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

หัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย (JUSMAGTHAI) ยังขยายความถึงการฝึกทางอวกาศครั้งแรกว่า เป็นการทำงานร่วมกันของกองกำลังผสมนานาชาติ (Multinational Force) เพื่อศึกษาผลกระทบหรือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติทางอวกาศ ซึ่งจะเข้าถึงข้อมูลระบบดาวเทียมด้วย นี่จึงถือเป็นโอกาสที่เราจะได้เริ่มหารือร่วมกันครั้งแรก

“การฝึกคอบร้าโกลด์ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งในความร่วมมือด้านความมั่นคงอันครอบคลุมของเรา ซึ่งเสริมสร้างความมั่นคงของภูมิภาคและประเทศไทย” หัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย (JUSMAGTHAI) กล่าว

Related Posts

Send this to a friend