POLITICS

‘อรรถวิชช์’ ร้อง สตง.สอบงบสัมมนา กทม. พบ 26 เขตโยกเป็นงบสัมมนากว่า 111 ล้าน

‘อรรถวิชช์’ ร้อง สตง. สอบงบสัมมนา กทม. พบ 26 เขตโยกเป็นงบสัมมนากว่า 111 ล้านบาท ซัดตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ วิกฤตขึ้นมาอย่าบ่นไม่มีเงิน หวัง ‘ชัชชาติ’ ทำงานเต็มที่ หลังลูกพรรค ‘กล้า’ หลายคนก็โหวตให้ แนะรองผู้ว่าฯ ‘จักกพันธุ์’ กลับไปกางเอกสารของบของเขตจะได้เห็นชัด

วันนี้ (13 ก.ย. 65) ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า เดินทางมายื่นหนังสือและเอกสารงบประมาณประจำปี 2566 ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการจัดสัมมนาระหว่างช่วงที่เกิดเหตุอุทกภัยในพื้นที่ กทม. เนื่องจากพบความผิดปกติ

นายอรรถวิชช์ ระบุว่า วันนี้ได้นำเอกสารในการแปรญัตติงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 ทุกรายการมายื่นให้กับผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เนื่องจากไม่ต้องการเห็นงบประมาณที่ถูกแปรญัตติถูกโยกไปเป็นงบสัมมนา ซึ่งเป็นจำนวนกว่า 10 ล้านบาทในเขตจตุจักร ซึ่งจากที่ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมพบว่ามีอีก 26 เขต งบประมาณ 111 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 72 โครงการ โดยกระบวนการหลังจากนี้ สตง. จะทำหน้าที่ให้คำแนะนำกับกรุงเทพมหานครได้

นายอรรถวิชช์ กล่าวต่อไปว่า หากเทียบเคียงกับกรณีของสภาผู้แทนราษฎรหลังบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เวลาตัดงบเพื่อแปรญัตติ จะมีการเพิ่มในส่วนงบกลาง เพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้นำไปใช้ดูแลวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่นโรคระบาด หรือน้ำท่วม แต่กรุงเทพมหานครมีความแปลก มีการตัดงบประมาณแปรญัตติ แล้วนำมาแปลงเป็นโครงการใหม่ ซึ่งไม่เคยมีโครงการมาก่อนกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทุกเขต โดยตั้งแต่ปี 2557 ไม่เคยมีการทำโครงการลักษณะแบบนี้มาก่อน จึงยืนยันว่า อยากให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีงบกลางในการนำไปใช้แก้ปัญหาวิกฤติโดยตรง แต่หากยังใช้วิธีนี้จะเหมือนกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

“ผมยืนยันว่าสิ่งที่เราทำขนาดนี้ ผมทำเพื่อให้ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ มีงบกลางในการเข้ามาดูแลงบประมาณ เรื่องวิกฤตของกรุงเทพมหานครโดยตรง แต่หากท่านไปใช้วิธีเก่า คือนำมาหารเฉลี่ยลงไปตามเขต แปลงกลายเป็นงบสัมมนาต่างๆ จะเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หายไปหมดเลย แล้วมาถึงตรงนั้นจะมาบ่นไม่ได้ว่าไม่มีเงิน”

นายอรรถวิชช์ ยกตัวอย่างว่าเวลาช่วงวิกฤตของกรุงเทพมหานคร มักเกิดปัญหา เช่น น้ำท่วม ก็ไม่มีงบน้ำมันเติมเครื่องสูบน้ำ ซึ่งส่วนตัวคนเดียวทำไม่ไหว ต้องให้ผู้ว่าฯ สตง. เข้ามาดำเนินการตรวจสอบอีกทาง

นายอรรถวิชช์ บอกด้วยว่า จะมีการเริ่มใช้งบประมาณ ปี 2566 วันที่ 1 ตุลาคม หากเรื่องที่ สตง. ดำเนินการได้ทัน จะส่งผลดีต่อผู้ว่าฯชัชชาติ อย่างแน่นอน

เมื่อถามว่านอกจากงบประมาณในการแปรญัตติที่ผิดสังเกตแล้ว ยังมีความผิดปกติอื่นอีกหรือไม่ นายอรรถวิชช์ ระบุว่ายังมีอีกเยอะ แต่ตอนนี้อยากกล่าวถึงงบของการสัมมนา เพื่อแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วมีอะไรอีกเยอะ เช่น งบครุภัณฑ์ ที่มีความแปลกประหลาดเรื่องราคาที่ผิดปกติ ก็พูดมากกว่านี้ไปไม่ได้ ขอให้ สตง. ดำเนินการตรวจสอบดีกว่า ส่วนตัวคาดว่าจะได้รับความร่วมมือจากข้าราชการกรุงเทพมหานครในการตรวจสอบครั้งนี้

“บ่นไม่ได้เลย กรุงเทพมหานครไม่เหมือนหน่วยงานอื่นนะครับ การจะไปขอกู้ ยังกู้ไม่ได้เลยในขณะนี้ คิดเอาแล้วกันว่าในการบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลางแล้วเกิดวิกฤติจะทำยังไง โดยเฉพาะโลกปัจจุบันเราเจอวิกฤติตลอด มันจะกลายเป็นว่า 3-4 ปีจากนี้ไป ท่านผู้ว่าฯ ก็จะติดขัดแบบนี้ตลอด”

นายอรรถวิชช์ กล่าวอีกว่า สตง. สามารถมีมาตรการบังคับใช้หลายแบบหลังจากนี้ เช่น ส่งเรื่องไปให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อหากพบความผิดปกติ โดยกรุงเทพมหานครมีอำนาจในการตัดงบแต่ไม่สามารถเพิ่มงบได้ แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการขอเพิ่ม และขอควบคุมเอง จะถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหาร ส่วนกรณีนายจักกพันธ์ุ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาชี้แจงตอบโต้ว่า กรุงเทพมหานคร ไม่มีงบพาหัวคะแนนไปสัมมนานั้น นายอรรถวิชช์ ฝากถึงนายจักกพันธุ์ว่าให้นำเอกสารที่ขอไปยังเขตจตุจักรมาตรวจสอบอีกครั้งจะเห็นชัด

“ท่านพูดสิ่งที่เข้าไปในวาระหนึ่งไม่ได้ ท่านต้องไปดูว่าเขตขออะไร ผมพยายามทำให้มันดี ไม่อยากให้อยู่ในรูปแบบของการดีเบต”

เมื่อถามว่าเป็นเกมการเมืองหรือไม่ นายอรรถวิชช์ ยืนยันว่าไม่ใช่เกมการเมือง เพราะพวกเราหลายคนในพรรคกล้า ก็เลือกผู้ว่าฯ ชัชชาติ เกินครึ่ง อยากเห็นผู้ว่าฯ ชัชชาติ ทำงานแบบสุดความสามารถ อยากเห็นมานานแล้วว่ารูปแบบการบริหารงบประมาณจะเป็นอย่างไร เพราะทุกคนโอดเหมือนกันหมดในช่วงวิกฤติ

“เราวนมากี่ทีเเล้วเรื่องเครื่องสูบน้ำไม่มีน้ำมัน เพราะไม่ได้ตั้งงบไว้ ไม่มีใครรู้ว่าจะท่วมหนัก เรื่องแบบนี้มันเป็นงบวิกฤต งบกลาง แล้วใส่ลงไปเหมือนน้ำมันหล่อลื่นได้”

ผู้สื่อข่าวถามว่าใครต้องรับผิดชอบบ้าง นายอรรถวิชช์ ตอบว่า ใครทำอะไรก็ได้เห็นแล้ว ไม่ขอระบุว่าเป็นใคร เพราะยังไม่ถึงขั้นนั้น ขอให้รอดูความคืบหน้าต่อไป พร้อมกับย้ำทิ้งท้ายว่า การบริหารราชการในช่วงวิกฤติทุกอย่างต้องใช้เงิน

“การบริหารจัดการงบของกรุงเทพมหานครสำคัญที่สุดคือเรื่องเงิน เพราะทุกอย่างต้องเดินไปด้วยเงิน หากผู้ว่าฯ ลงไปแล้ว ไม่สามารถชี้สั่งงานโครงการได้เลย ท่านจะลำบากมาก ผมคิดว่าเรื่องนี้มันสำคัญไม่อย่างนั้นกรุงเทพมหานครจะบูรณาการงานไม่ได้”

Related Posts

Send this to a friend