POLITICS

‘ชัยธวัช’ ลั่น หากนายกฯ คนใหม่ ไม่เป็นไปตามผลการเลือกตั้ง จะมีการเลือกตั้งไปทำไม

‘ชัยธวัช’ ลั่น “หากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ไม่เป็นไปตามผลการเลือกตั้งแล้ว เราจะมีการเลือกตั้งไปทำไม” ยันก้าวไกลไม่เปลี่ยนระบอบ ขอสมาชิกร่วมแสวงหาคำตอบใหม่ให้สังคมไทย

วันนี้ (13 ก.ค. 66) นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน ระบุเหตุผลว่าทำไมในวันนี้ พวกเราควรลงมติรับรองให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แทนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายชัยธวัช ระบุว่าตนเองไม่จำเป็นต้องมาอภิปรายถึงเรื่องคุณสมบัติของนายพิธา รวมถึงนโยบายของพรรคก้าวไกลในรัฐสภาแห่งนี้ เพราะตนถือว่าประชาชนทั้งประเทศ รวมถึงสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน เราต่างได้ใช้วิจารณญาณของตัวเอง พิจารณาและลงมติหนึ่งคนหนึ่งเสียง เท่าเทียมกัน ผ่านการเลือกตั้งไปแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

และเมื่อผลปรากฏว่าพรรคก้าวไกล ซึ่งได้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ชนะการเลือกตั้งแล้ว สามารถรวบรวมเสียงของข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรได้ทั้งสิ้น 312 เสียง จากพรรคการเมือง 8 พรรคได้แล้ว นายพิธาควรได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ตามครรลองปกติของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เรื่องควรจะเรียบง่าย ตรงไปตรงมา

นายชัยธวัช กล่าวว่าบรรยากาศที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงวันนี้ กลับทำให้เกิดคำถามดังๆในใจของพี่น้องประชาชน จำนวนนับล้านคน ที่กำลังเฝ้าดู จับตาการประชุมรัฐสภาในวันนี้ ด้วยเกิดคำถามในใจของประชาชนว่า “หากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ไม่เป็นไปตามผลการเลือกตั้งแล้ว เราจะมีการเลือกตั้งไปทำไม” ตกลงอำนาจอธิปไตยของประเทศนี้ เป็นของปวงชนชาวไทยตามที่ปรากฏบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญจริงๆ หรือไม่ หรือเป็นของใครกันแน่ และยังมีคำถามคำโตๆ ว่า ตกลงประชาชนอยู่ตรงไหนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของเรา

นายชัยธวัช กล่าวตั้งคำถามว่าคำถามในใจของพี่น้องประชาชนเหล่านี้ มันสะท้อนอะไร และมีนัยยะสำคัญอย่างไรกับสังคมบ้านเมืองของเรา อันที่จริงคำถามในใจของประชาชนทำนองนี้ ไม่ใช่จะเพิ่งเกิด แต่เป็นคำถามที่ดังขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ ตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เราผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้ง ผ่านการรัฐประหารมา 2 ครั้ง ผ่านการพยายามที่จะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับถาวรหลังรัฐประหาร 2 ฉบับ ผ่านแม้กระทั่งการพยายามจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร 1 ครั้ง ผ่านการยุบพรรคการเมือง ยุบแล้วยุบอีก ผ่านการชุมนุมของประชาชนฝ่ายต่างๆ และการปะทะกันบนท้องถนนนับไม่ถ้วน มีผู้ถูกดำเนินคดี จำคุก บาดเจ็บ รวมถึงเสียชีวิตรวมแล้วนับร้อยนับพันคน จากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่ทราบว่าจะยุติเมื่อไหร่

นายชัยธวัช ระบุว่า ทว่าการผ่านเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้มาเกือบ 2 ทศวรรษ สังคมไทยยังไม่สามารถให้คำตอบที่ดีหรือคำตอบที่พวกเรายอมรับร่วมกันได้สักที ปัญหาก็คือว่า ตราบใดที่พวกเรายังไม่สามารถหาคำตอบแห่งยุคสมัยนี้ได้ สังคมไทยก็จะหยุดนิ่ง จมดิ่ง เราวนอยู่ในวงจรเดิมๆ มองไม่เห็นอนาคตไปอีกนาน

ตนในฐานะผู้แทนราษฎรและสมาชิกรัฐสภา รวมถึงตัวแทนของพรรคก้าวไกล ตนเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาและการลงมติของรัฐสภาในวันนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญของพวกเราที่จะเริ่มต้นในการแสวงหาคำตอบครั้งใหม่ให้แก่สังคมไทย สมาชิกหลายท่านอาจไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลในบางเรื่อง หลายท่านอาจกังวลใจกับความเปลี่ยนแปลงที่พวกเราไม่คุ้นเคยหรือไม่รู้จัก มีข้อกล่าวหามากมาย ซึ่งส่วนหนึ่งก็สะท้อนผ่านการอภิปรายของท่านสมาชิก ไม่ว่าการกังวลว่าพวกเราพยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือระบอบการปกครองหรือไม่ พวกเราพยายามทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่กลายเป็นสถาบันหลักของชาติอีกหรือไม่ เจตนาที่แท้จริงของการเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงมาตรา 112 ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ นโยบายของเราเป็นอย่างไร

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ข้อกล่าวหาต่างๆ มันไปไกลถึงขนาดที่หลายท่านบอกว่า การเลือก การลงมติให้นายพิธา จากพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นการลบล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการไม่รักชาติ เป็นการไม่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่พวกตนพยายามจะบอกว่า มันไม่ควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องอยู่เหนือการเมือง ต้องอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง แล้วมันอันตรายมากที่เมื่อไหร่ต่างฝ่ายต่างดึงเรื่องนี้เข้ามาพัวพันในความขัดแย้งทางการเมือง

ซึ่งเห็นอยู่แล้วว่าตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผลในวันนี้เป็นอย่างไร เราพยายามที่จะเสนอว่าต้องช่วยกันนำสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความขัดแย้งทางการเมือง และการยิ่งนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาปะทะกับผลการเลือกตั้ง ยิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง ใครจะรับผิดชอบ กับผลกระทบในการกระทำแบบนี้

นายชัยธวัช กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนอยากจะเชิญชวนท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในที่ประชุมแห่งนี้ ลงมติให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย เหตุผลไม่ใช่เพราะทุกท่านรักนายพิธา ไม่ใช่เพราะทุกท่านเห็นชอบ เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลไปเสียทุกเรื่อง แต่เป็นการลงมติเพื่อคืนความปกติให้แก่ระบบรัฐสภาของไทย มันจะเป็นการลงมติเพื่อแสดงความเคารพต่อประชาชน เป็นการลงมติเพื่อให้โอกาสครั้งใหม่ให้แก่สังคมไทย เป็นการลงมติเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการแสวงหาคำตอบแห่งยุคสมัยร่วมกันให้ได้

“…สุดท้ายผมขออวยพรให้ประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในระบอบประชาธิปไตย คุ้มครองสมาชิกในรัฐสภาทุกท่านที่จะตัดสินใจอย่างกล้าหาญ ตามมโนธรรมสำนึกและเจตจำนงที่พี่น้องประชาชนได้แสดงออกไปแล้ว เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566…” นายชัยธวัช กล่าว

Related Posts

Send this to a friend