POLITICS

นายกฯ มอบนโยบายการทูตเชิงรุก ในการประชุมทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก

นายกฯ มอบนโยบายการทูตเชิงรุก ในการประชุมทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ปี 68 ฝากทำความเข้าใจนานาประเทศปมพิพาทกัมพูชา ย้ำไทยยึดมั่นกลไกทวิภาคี ลั่นหลายประเทศยังสนใจลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์

วันนี้ (13 มิ.ย.68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีปิดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี 2568 ที่โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวสรุปผลการประชุมระหว่างวันที่ 9-13 มิ.ย.68 ระบุว่าการประชุมครั้งนี้มีเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่จาก 98 สำนักงานเข้าร่วม ตลอดระยะเวลาการประชุมเอกอัครราชทูตได้อ่านโจทย์ที่นายกฯ มอบให้ นำไประดมสมองเพื่อหารือกับทีมของนายก เพื่อแสวงหาโอกาสจากความท้าทายของบริบทระหว่างประเทศ เห็นตรงกันว่าจะต้องมีการปรับกระบวนกระบวนทัศน์นโยบายการต่างประเทศ เพื่อให้ไทยได้รับผลประโยชน์สูงสุด

โดยจะต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจ เราจำเป็นจะต้อง Repositioning ประเทศไทย ลดความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ แสวงหาเพื่อนสนิทใหม่โดยเฉพาะประเทศระดับรองมหาอำนาจในภูมิภาคและประเทศที่ห่างไกลออกไป รวมถึงจับมือกับประเทศในภูมิภาคที่มีศักยภาพอย่างมั่นคง

ด้านนางสาวแพทองธาร ยกคำพูดของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่เคยพูดไว้ว่าทุกคนคือมนุษย์ มนุษย์ต้องการสร้างความสัมพันธ์แบบมนุษย์ด้วยกัน ต้องการความสัมพันธ์ที่สื่อสารกันง่าย เข้าใจกันง่าย

ทุกประเทศมีความท้าทายหลายเรื่อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เราจึงต้องปรับให้เป็นการทูตเชิงรุกมากยิ่งขึ้น หากมีโอกาสเข้ามาทีมไทยแลนด์จึงต้องช่วยกันไขว่คว้าโอกาสกลับเข้ามาให้กับประเทศ

ทูตแต่ละประเทศมีส่วนสำคัญอย่างมาก จึงอยากให้ดูว่าในประเทศต่าง ๆ มีอะไรที่สามารถประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้บ้าง ทั้งการลงทุน เทคโนโลยี ยกตัวอย่างกรณีตึก สตง.ถล่ม สหรัฐอเมริการและอิสราเอลก็นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทั้งยังต้องดูถึงความจำเป็นเรื่องกองทัพ อาวุธมีการเตรียมพร้อม อาจจะไม่ได้ซื้อมาเยอะแยะเกินความจำเป็น แต่ต้องพร้อมใช้

ขณะที่แอคชั่นแพลน รัฐบาลอยากขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้อยู่ในจุดที่เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอำนาจ ระเบียบโลกทั้งระยะสั้นและระยะยาว เราจะเห็นว่าจีนมาท่องเที่ยวน้อยลง เนื่องจากจีนมีการโปรโมทการท่องเที่ยวภายในประเทศเอง มีการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลเคลื่อนไหวอย่างแรกคือ เมื่อนักท่องเที่ยวเกิดความไม่สบายใจในการมาเที่ยวที่ไทย เราจึงเพิ่มกำลังการตรวจสอบดูแลนักท่องเที่ยวให้รู้สึกว่าการมาประเทศไทยยังปลอดภัยอยู่

อีกเรื่องคือ ข่าวเฟกนิวส์ ซึ่งไม่สามารถแก้ได้ทุกข่าว เราจึงต้องนำข้อมูลที่ดีเข้าไปในระบบผ่านช่องทางทางการแลพช่องทางส่วนตัว เพื่อส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องไปให้กลุ่มเล็ก ๆ ที่จะกลายเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น สำหรับเฟกนิวส์โดยเฉพาะเรื่องเหตุการณ์ระหว่างประเทศ เป็นเรื่องสำคัญจะต้องส่งข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนเข้าไปในโซเชียลมิเดีย ดังนั้นเอกอัครราชทูตจึงต้องมีทีมโซเชียลมิเดียที่เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยรัฐบาลได้เป็นอย่างมาก

ในระยะสั้น การส่งเสริมเศรษฐกิจเครื่องยนต์เดิม การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร รายได้หลักของเรามาจากการท่องเที่ยว ผลไม้ไทยดังไปทั่วโลกจีนเป็นตลาดใหญ่ หากเทียบพื้นที่การเกษตรของจีนอาจจะไม่สามารถซัพพลายได้มากพอกับดีมานด์ เน้นย้ำขอให้สินค้าเกษตรของไทยยังเป็นที่นิยมอยู่ หากเกิดปัญหาเอกอัครราชทูตไทยจะเป็นคนแรกที่เข้าไปช่วยคุย ส่วนอาหารไทย ต่างชาติให้ความสนใจมาก และมั่นใจว่าไทยจะเป็นฟู้ดซิคิวริตี้ของโลกได้แน่นอน สำหรับการแพทย์ หากมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่แอดวานซ์ก็จะเสริมสร้างจุดแข็งให้ไทยได้ เนื่องจากเราต้องการเป็น Medical Hub ของภูมิภาค

ในระยะยาว ไทยต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ รวมถึงแลนด์บริดจ์ ที่หลายประเทศที่สนใจมาก และอยากจะร่วมลงทุน ทั้ง UAE และประเทศแถบเพื่อนบ้าน เอกชนและรัฐบาลก็อยากลงทุนในโครงการใหญ่ของรัฐบาลไทย

ส่วนการเจรจา FTA ต้องเกิดขึ้นให้ได้เร็วและเยอะ ซึ่งตนเองการเดินทางไปยุโรปในช่วงปลายเดือนนี้ นาาจะมีการพูดคุยเรื่องนี้ด้วย เพราะรัฐบาลพยายามที่จะสนับสนุนเอกชนเต็มที่ในการลงทุนในต่างแดน พร้อมกับอัปสกิล-รีสกิลคนในประเทศ ป้อนคนเข้าสู่อุตสาหกรรมในอนาคต ตอนนี้รัฐบาลก็ให้ทุน ODOS หรือหากเอกอัครราชทูตมีโอกาสดี ๆ ที่จะส่งถึงมือเยาวชนไทยมากขึ้นก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ขณะนี้รัฐบาลกำลังจะดูเรื่องงบประมาณที่จะให้ทุนเยาวชนไปเรียนต่อ จะทำให้ในอนาคตประเทศไทยมีความพร้อมในการแข่งขันมากขึ้น

นางสาวแพทองธาร กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในฐานะผู้นำรัฐบาล เน้นเป็นผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจผ่านมุมมองการต่างประเทศ อยากให้ทุกคนมองประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นเอกชนรายใหญ่หรือพ่อค้าเล็ก ๆ เราจะทำอย่างไรที่จะให้คนกลุ่มนี้ให้พัฒนาต่อไป

สำหรับการเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ตนเองพยายามจะไปให้ครบเพื่อที่จะทำความเข้าใจกับการบริหารจัดการของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเรื่องภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐอเมริกา และในช่วงที่มีเหตุการณ์วิกฤตจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจว่าประเทศไทยเน้นจุดยืนไม่สนับสนุนเรื่องความรุนแรง ยึดเรื่องความสงบสุข การตกลงในกรอบทวิภาคี ย้ำเรื่องสันติภาพอยู่เสมอ ความรุนแรงต้องสิ่งสุดท้ายที่เราจะเลือก แต่ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็ตาม เราจะต้องมีกำลังพอที่จะปกป้องคนของเรา

”เราไม่หาเรื่องพร้อมที่จะสร้างความเข้าใจ และพร้อมที่จะพัฒนาไปกับประเทศเพื่อนบ้านในทุกประเทศ ถ้าเรารวมกันเราจะโตไปด้วยกันอย่างแข็งแรง เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดพลังมากกว่าการไม่สนใจคนเพื่อนบ้าน ฉันจะอยู่คนเดียว“

นางสาวแพทองธาร ระบุอีกว่าอยากให้เอกอัครราชทูตในแต่ละประเทศ สื่อสารเรื่องมาตรการภาษีสหรัฐอเมริกาสถานการณ์ในเมียนมา ที่อาเซียนพร้อมจะช่วยให้เมียนมามีความสงบสุขอีกครั้ง ส่วนกรณีข้อพิพาทกับไทย-กัมพูชา ฝากเอกอัครราชทูตอธิบายความจำเป็นในการที่ไทยดำเนินมาตรการต่าง ๆ เหตุผลที่ไทยยึดมั่นในกลไกทวิภาคี รวมถึงกลไกที่ไทยช่วยเหลือกัมพูชามาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ไทยไม่ได้มีความต้องการให้เกิดความรุนแรง ตนเองได้ประสานกับกองทัพตลอด บางครั้งมีเสียงผลักดันให้เกิดการทะเลาะหรือความรุนแรง แต่เวียงเชียร์ในโซเชียลไม่ได้อยู่หน้างาน คนหน้างานคือคนที่จะต้องเสี่ยงและไม่มีใครให้อยากเกิดความรุนแรง คนในประเทศจะต้องสามัคคีและแก้ปัญหาอย่างสันติ ขณะที่การประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วม (JBC) ในวันที่ 14 มิ.ย.นี้น่าจะมีความเข้าใจที่มากขึ้นระหว่างสองประเทศ

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat