POLITICS

คณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา 35 ร้องประธานสภาฯ เร่งผลักดัน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม

วันนี้ (13 ก.พ. 67) คณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา 35 นำโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติฯ และคณะ เดินทางเข้าพบ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นหนังสือผลักดันการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ณ อาคารรัฐสภา

ข้อเรียกร้องของคณะกรรมการญาติฯ ระบุว่า “ด้วยสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์และแนวทางการนิรโทษกรรมให้ได้ข้อยุติ ก่อนเสนอเป็นกฎหมาย คณะกรรมการญาติฯ เห็นด้วยในหลักการนิรโทษกรรมคดีการเมือง เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 จนถึงปัจจุบัน และมีความเห็นดังนี้

1) คณะกรรมการญาติฯ ขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านที่ร่วมกันผลักดัน ให้มีการนิรโทษกรรม ให้สังคมไทยเกิดความปรองดองสมานฉันท์ และความรักสามัคคีแก่ประชาชนทุกภาคส่วน

2) คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีการศึกษาเรื่องการนิรโทษกรรมไว้ครอบคลุมทุกมิติและตกผลึกแล้ว ที่ประชุม สปช. ได้ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรที่มี นายชวนหลีกภัย เป็นประธานสภาฯ ก็ได้มีมติเห็นชอบอย่างเอกฉันท์เช่นกัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องศึกษาให้เสียเวลาอีก สามารถนำร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่มีอยู่แล้วเข้าพิจารณาได้เลย

3) หากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรยังหาข้อยุติการนิรโทษกรรมไม่ได้ คณะกรรมการญาติฯ มีความจำเป็นต้องเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นิรโทษกรรมต่อไป”

ด้าน นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนรับหนังสือ เผยว่า คณะกรรมการญาติฯ ได้ไปพูดคุยด้วยวาจากับประธานสภาฯ แล้ว ส่วนตัวเห็นด้วยกับการร้องเรียนเพราะสิ่งเหล่านี้ควรได้รับการพิจารณาอย่างเร่งด่วน โดยบุคคลที่ถูกจำคุกเป็นเวลานานมาแล้ว การจะขอให้นิรโทษกรรม ส่วนตัวมีความรู้สึกว่าสมควรเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากโดยหลักปรัชญาของกฎหมาย การจับกุมไม่ใช่เป็นการแก้แค้นหรือล้างแค้น เพียงแต่ต้องการให้มีความรู้สึกสำนึกในสิ่งที่กระทำ ตนเองได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้มาก่อนในช่วงที่เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บุคคลเหล่านี้ตนเองรู้จักดีว่าไม่ได้มีจิตใจที่โหดร้ายหรือเป็นอาชญากร แต่เป็นเพียงนักอุดมการณ์ที่ต้องการเห็นความถูกต้องตามที่เขาเชื่อมั่น ดังนั้นการนิรโทษกรรมให้เร็วที่สุด จึงเห็นว่าสมควรอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ คณะกรรมการญาติฯ เป็นห่วงว่าการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาถึง 2 เดือน ทั้งที่ข้อมูลมีอยู่แล้ว และทำให้เกิดความรู้สึกล่าช้าเสมือนยื้อเวลา ซึ่งคนที่ติดคุก แม้วินาทีเดียวก็ถือว่าไม่ถูกต้อง ดังนั้นอาจจะเห็นชอบในการให้นิรโทษกรรมควรทำให้เร็วที่สุด แต่ว่าตั้งคณะกรรมาธิการฯ มาแล้วควรหาทางร่นระยะเวลาให้น้อยกว่า 60 วัน เช่น นัดประชุมกันให้อย่างน้อยมากกว่าสัปดาห์ละครั้ง

ด้าน นายอดุลย์ กล่าวต่อว่า ทราบมาว่า สส. ส่วนใหญ่ไม่ได้มีความคิดจะขัดขวางการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ จึงขอบพระคุณ สส. ทุกคนที่มีเจตนาดี และทำให้ทุกอย่างน่าจะจบลงได้ภายใต้สภาฯ ชุดนี้โดยด่วน และเห็นด้วยกับที่ประธานสภาฯ ได้กล่าวถึงการให้อภัยซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งสวยงามที่สังคมควรจะได้รับ หวังว่าสังคมไทย ที่แต่ละฝ่ายมีอุดมการณ์ยอมต่อสู้จนถึงขั้นติดคุก ถึงเวลาที่ควรปรองดองกันได้แล้ว

Related Posts

Send this to a friend