ณัฐพงษ์ – ศิริกัญญา เย้ย นายกฯ แถลงฝากงาน ไม่ใช่แถลงผลงาน ไม่ขอตัดเกรด แต่รัฐบาลดำเนินนโยบายล้มเหลว
’ณัฐพงษ์ – ศิริกัญญา‘ เย้ย นายกฯ แถลงฝากงาน ไม่ใช่แถลงผลงาน ไม่ขอตัดเกรด แต่รัฐบาลดำเนินนโยบายล้มเหลว ไม่ผ่านเกณฑ์ บอก เป็นเพียงกันแถลงที่ ”นายกรัฐมนตรีพูดไม่ครบ คิดไม่จบ“ ชี้ ปัญหาเท่าภูเขา แต่วิธีแก้เท่าขนนก
วันนี้ (12 ธ.ค. 67) เวลา 15:30 น. นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน และ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน แถลงข่าวถึงภาพรวมการดำเนินนโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดย น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลมีการจัดงานแถลงผลงาน 90 วันขึ้นมา ซึ่งทำให้ประชาชนคาดหวังว่า นี่จะเป็นการพูดเรื่องผลงานของรัฐบาล
แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับมีปัญหาใน 2 เรื่อง โดยเรื่องแรก ต้องความเข้าใจว่า รัฐบาลไม่ได้พึ่งมาเพียงแค่ 90 วัน แต่รัฐบาลนี้ได้ดำเนินการบริหารราชการมารวมแล้ว 1 ปี 4 เดือน แต่การจะบอกว่ามาแถลงผลงานแค่ 90 วันนั้น ตนคิดว่า อาจจะเป็นผลงานเฉพาะของนายกรัฐมนตรีคนใหม่หรือไม่ เพราะทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีหน้าเดิมเกินครึ่ง ดังนั้น จึงควรสรุปผลงานที่ทำมาได้เกือบครึ่งทางของรัฐบาล ไม่ใช่กรอบ 90 วันของอายุรัฐบาลนางสาวแพทองธาร
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า แม้จะใช้ชื่อว่า เป็นการแถลงผลงาน แต่สิ่งที่เราได้ยินจากนายกรัฐมนตรี คือการมาฝากงานให้กับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ เพื่อให้ไปศึกษา โดยมีการผู้ฝากงานรวม 11 ครั้ง และไม่ได้ทำการสรุปผลงานที่ผ่านมาเลยว่า ได้ทำอะไรไปบ้าง หรือทำอะไรสำเร็จไปแล้ว ได้ทำนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนหรือไม่ มีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นอย่างไร ต้องยอมรับว่า รัฐบาลนี้ไม่ใช่ว่าไม่มีผลงาน แต่กลับไม่มีการออกมาพูดแถลงเรื่องผลงานจริงจัง มีเพียงบางตัวที่อาจจะเป็นผลงานได้
อีกทั้ง สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดในวันนี้ คือการพูดโดยที่ไม่ได้ลงรายละเอียดอะไรมากนัก ลักษณะเป็นการแถลงนโยบายภาคสอง แค่เป็นการพูดลงรายละเอียดเพิ่มขึ้น จากตอนแถลงนโยบายเมื่อสามเดือนก่อนนิดเดียว พูดแค่หัวข้อ โดยที่ไม่ได้ลงรายละเอียด และเรียกได้ว่า อาจจะยังคิดไม่ครบทั้งระบบ ซึ่งปัญหาที่เราทราบใหญ่เท่าภูเขา แต่วิธีการแก้ไขเล็กเท่าขนนก
อย่างไรก็ตาม เรายังเห็นว่า มีหลายเรื่องที่เราเห็นด้วย และพร้อมสนับสนุน ทั้งการทลายทุนผูกขาด การปรับโครงสร้างหนี้ บ้านเพื่อคนไทย หรือการลดค่าไฟ แต่ปัญหาอยู่ที่ไม่ได้มีการลงรายละเอียดอะไรมากมาย ซึ่งเมื่อมาประกบกับเรื่องนโยบายเร่งด่วนที่เคยแถลงกับสภาฯ ไว้พบว่า มีการพูดแตะในทุกประเด็น ประมาณ 9 เรื่องจาก 10 เรื่องที่อยู่ในนโยบายเร่งด่วน ไม่ว่าจะเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ กระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างรายได้ใหม่ โดยการนำเศรษฐกิจที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดิน แม้ว่าเรื่องนี้จะยังไม่ได้ชัด และไม่ได้บอกว่าเศรษฐกิจใต้ดินที่จะนำขึ้นมาคืออะไร รวมถึงยังมีเรื่องที่ไม่ถูกพูดถึงเลย แต่มีความคืบหน้ามาโดยตลอด อย่างเรื่องอาชญากรรมออนไลน์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นผลงานจริงๆ ในระยะเวลาที่ผ่านมานี้ ต้องยกให้เป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่นายกรัฐมนตรีได้เอาผลของการแก้ไขออกมาโชว์ว่า มีปริมาณของฝุ่นลดลงทุกภูมิภาค แต่สำหรับคนที่ติดตามเรื่องฝุ่นอย่างจริงจังจะพบว่า นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เคยตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 66 ถึงต้นปี 67 ว่า มีเป้าหมายที่จะลดอย่างไรบ้าง ซึ่งปรากฏว่า ตัวเลขที่นายกรัฐมนตรีเอามาโชว์นั้น ตกเป้าในทุกภูมิภาค
“สิ่งที่น่าเศร้า คือเรื่องทลายทุนผูกขาด ที่พูดเพียงแค่สองเรื่อง ซึ่งเรายินดีสนับสนุนแน่นอน ทั้งเรื่องกระบวนการส่งออกข้าวให้สามารถทำได้ จากเดิมที่มีการตั้งลิมิตไว้ว่า จำเป็นต้องมีสต๊อกข้าวเกิน 500 ตัน การยกเลิกตรงนี้ ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ปัญหาการมีทุนผูกขาดในประเทศนี้กว้างไกลไปกว่าเรื่องการส่งออกข้าว และสุราชุมชนมาก จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาใส่ใจกับนโยบายการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
ด้านนายณัฐพงษ์ เผยว่า การแถลงผลงานครั้งนี้ เป็นการฝากงานมากกว่า สิ่งที่เราอยากเห็นจากรัฐบาล คือการทำให้ประชาชนคนไทยเชื่อมั่นว่า ในปี 68 ภายใต้บริบทโลกใหม่ ความท้าทายใหม่ๆ นโยบายต่างๆ ของรัฐบาล จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับประชาชนจริงๆ ยังมีบางส่วนที่ตนอยากเห็นจากการแถลงผลงานในวันนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องการปฏิรูประบบราชการ เนื่องจากวันนี้นายกรัฐมนตรีมีการพูดถึงระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และรัฐบาลดิจิทัล แต่ไม่มีการพูดถึงปัญหาที่ใหญ่กว่า ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาช้านาน อย่างการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งตนมองว่าเทคโนโลยีสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ได้
ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจ ก็เป็นเรื่องที่มีส่วนสำคัญในการทำให้สังคมไทยไปข้างหน้าเช่นเดียวกัน แต่กลับมีการพูดถึงว่า จะมีการกระจายอำนาจด้วยกองทุน SML ทั้งที่หากกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะมีสามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้โดยตรง ทั้งเรื่องแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคการเกษตรนอกเขตชลประทาน ซึ่ง อปท.ควรเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรเข้าถึงน้ำใช้ เพื่อการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 นายกรัฐมนตรี ก็มีการแถลงผลงานเช่นเดียวกัน ซึ่ง อปท.ก็เป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาไฟป่า ที่เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เช่นเดียวกัน
นายณัฐพงษ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติด วันนี้เราได้ยินแค่นายกรัฐมนตรีแถลงว่า จะทำแพลตฟอร์มรับเรื่องร้องเรียนปัญหายาเสพติดไปที่นายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่ตนเชื่อว่าปัญหานี้ใหญ่กว่านั้น เพราะประเทศไทยจะไม่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้เลย ถ้าเราไม่พูดถึงปัญหาชายแดน หรือความขัดแย้งในประเทศเพื่อนบ้าน หากนโยบายต่างประเทศเราไม่ได้มองเรื่องสงครามการค้าโลก และเรื่องนโยบายการต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็ยังไม่มีความชัดเจน
อีกทั้ง ปัญหาด้านการศึกษา อย่างนโยบายหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนการศึกษา กลับไม่มีการพูดถึงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษา หรือการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาแต่อย่างใด ส่วนพลังงานไฟฟ้า นายกรัฐมนตรีมีการพูดถึงค่าวางท่อบางส่วน แต่สิ่งสำคัญที่ตนเชื่อว่า ประชาชนจะมองว่าเป็นส่วนสำคัญสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายให้เขาได้โดยตรงในอนาคต คือ solar rooftop และ smart grid ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนแต่ละครัวเรือน เพราะนอกจากลดค่าไฟแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เขาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า เพื่อขายให้กับครัวเรือนอื่นได้
นายณัฐพงษ์ ยังกล่าวถึงการยกเลิกสัมปทานพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งได้มีการทำหนังสือถึงคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และนายกรัฐมนตรีเอง ก็รับเป็นประธาน รวมถึงมีการประชุมแล้ว แต่ยังไม่มีมีการพูดคุยว่า เรื่องนี้จะดำเนินการต่ออย่างไร ตนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ประชาชนจ่ายค่าไฟแพงกว่าความเป็นจริงในอนาคต
อีกทั้ง อุตสาหกรรมในอนาคต นายกรัฐมนตรีก็บอกเองว่า จะทำให้เป็น AI แต่เรามีข้อกังวลว่า จะเป็นเพียง AI User Hub ไม่ใช่ AI Producer Hub คือเป็นผู้ใช้ ai เป็นหลักไม่ใช่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ AI เป็นหลัก นายกรัฐมนตรี ยังมีพูดถึงสิ่งสำคัญเรื่องการสร้างสรรค์อุตสาหกรรม AI แต่ข้อมูลวันนี้ กลับไม่มีการพูดถึงการวางโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลที่สำคัญให้กับประเทศ ทั้งเครื่องการผ่านร่างกฎหมาย ให้เกิดการแบ่งปันระหว่างข้อมูลภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจข้อมูล ซึ่งเรื่องนี้พรรคประชาชนพูดมาตลอดในสภา และเรามีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า ในสหภาพยุโรปมีการผ่านร่างกฎหมายที่สำคัญเช่นนี้
นายณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่า อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องบริบทโลกวันนี้ ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนโยบายด้านต่างประเทศ ว่าประเทศไทยจะจัดตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองอย่างไรในสงครามการค้าโลก ซึ่งเราจะได้รับผลกระทบโดยตรง ในปี 68 ภายใต้ระเบียบโลกใหม่ ที่สหรัฐอเมริกามีการตั้งกำแพงภาษีกับหลายๆ ประเทศที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลทางการค้า ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศตรงนั้น
“ผมอยากเห็นนายกรัฐมนตรีที่มองบริบทประเทศตัวเองว่า เราไม่ใช่ประเทศเล็กๆ แบบที่นายกฯ เศรษฐาเคยพูดไว้ แต่เราคือประเทศที่มีอำนาจในการต่อรองระดับหนึ่ง ผมอยากเห็นนายกรัฐมนตรีแสดงอำนาจในบทบาทผู้นำอาเซียน เพื่อสร้างความร่วมมือกันสร้างการต่อรองกับสงครามการค้าโลก และวางภูมิศาสตร์ในการพัฒนาภูมิภาคอย่างไร เพื่อทำให้ทุกประเทศในอาเซียนได้รับประโยชน์ร่วมกัน” นายณัฐพงษ์ กล่าว
นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า การแถลงผลงานครั้งนี้ ไม่ผ่านเกณฑ์ เป็นเพียงการแถลงฝากงานที่ ”นายกรัฐมนตรีพูดไม่ครบ คิดไม่จบ“ สิ่งที่เราอยากเรียกร้อง คือการทำหน้าที่ของรัฐบาล ข้อแรกคืออยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การมาตอบกระทู้ถามของท่านนายกรัฐมนตรีในสภา ในรายละเอียดของนโยบายหลายๆ ข้อ ในวันนี้ที่ตนมาให้ความเห็น เพราะตนเชื่อว่า จะได้รับรายละเอียดมากกว่านี้ หากนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง มาตอบในสภาด้วยตนเอง
ส่วนเรื่องการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ หลายเรื่องที่เราให้ข้อคิดเห็นไป ปฏิเสธไม่ได้ว่า จะผลักดันไม่ได้ หากไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ทั้งเรื่องการแข่งขันทางการค้า ปฏิรูประบบงบประมาณ การแก้ไขด้านการศึกษา หรือแม้แต่การสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตหรือ AI ซึ่งทุกเรื่องที่กล่าวมา พรรคประชาชนได้ยื่นร่างกฎหมายเข้าสภาไปแล้วกว่า 80 ฉบับ เราเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือนโยบายใดที่เป็นประโยชน์ เราพร้อมจะสนับสนุนการทำงานรัฐบาลผ่านการแก้ไขกฎหมายได้ เราพร้อมสนับสนุน และอยากได้ความชัดเจนกับรัฐบาลจากเรื่องนี้ นอกเหนือจากการฝากงาน อยากเห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม หรือการทำกฎหมายที่จะยื่นเข้าสู่สภา
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ให้คะแนนการแถลงผลงานของนายกรัฐมนตรีในวันนี้เท่าไหร่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า คงไม่ได้ให้เกรด แต่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่พี่น้องประชาชนให้ ก็คือผิดความคาดหวัง รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ทำงานมาแล้วเกือบครึ่งเทอม หากมองการทำงาน 1 ปี 4 เดือน ตนเชื่อว่า เป็นการทำงานที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า พรรคเพื่อไทยมีจุดเด่นที่แต่ก่อนหลายคนมองว่า เป็นเรื่องนโยบายด้านกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้ตนคิดว่า เวลาที่ผ่านมา รัฐบาลประสบความล้มเหลว โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีการแจกจ่ายออกไปแล้วพบว่า ภาพรวมของการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนเฟส 2 และ 3 ก็มีการระบุแล้วว่า มีเฉพาะเฟส 3 เท่านั้น ที่จะเป็นการแจกในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งพลาดเป้าไว้หลายเป้า จากการแถลงนโยบาย และตอนหาเสียง
นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า ถ้าวันนี้นายกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้สดในสภา น่าจะตอบข้อซักถามได้หลายข้อ สามารถให้ความชัดเจนได้มากกว่านี้ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่จะได้ทราบรายละเอียดนโยบายมากกว่านี้
สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เราเตรียมตัวไว้ค่อนข้างดีแล้ว ตามกรอบที่วางไว้ คือภายในไตรมาสแรกของปี 68 ยืนยันว่า จะมีการยื่นญัตติแน่นอน