POLITICS

‘ศิริกัญญา’ ตั้งกระทู้ถามปฏิรูประบบภาษี จี้ แจงให้ชัด 15% ใครรับภาระ

‘ศิริกัญญา’ ตั้งกระทู้ถามปฏิรูประบบภาษี จี้แจงให้ชัด 15% ใครรับภาระ มอง ทำให้คนธรรมดาต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ด้าน ‘จุลพันธ์’ ชี้ เป็นแนวทางศึกษา หวังดึงดูดการลงทุน-ได้ผลลัพธ์สุดท้ายดีสุด

วันนี้ (12 ธ.ค. 67) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 เป็นนัดแรก ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาวาระกระทู้ถามสดด้วยวาจาของ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ถาม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มาตอบแทน

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า กรณีที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงปลัดกระทรวงการคลัง มีแนวคิดที่จะศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งตนเองเห็นด้วยว่าต้องมีการการปฏิรูป

ทั้งนี้ นายพิชัยเสนอภาษี 3 ตัวคือ 2 ลด 1 เพิ่ม ได้แก่การศึกษาว่าจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 20% เหลือ 15% และศึกษาว่าจะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเดิมจัดเก็บเป็นขั้นบันไดมาเป็นเลทเดียวกันทั้งประเทศคือ 15% รวมถึงศึกษาว่าจะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกันคือ 15% จึงขอทราบวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีว่าต้องการเก็บรายได้เข้ารัฐให้มากขึ้นหรือไม่ ต้องการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ อัตราที่ควรจะเป็นคือ 15% ของทั้งสามภาษีใช่หรือไม่ รวมถึงได้ตั้งโจทย์ไว้หรือไม่ว่าใครควรจะต้องรับภาระภาษีในการปฏิรูป หรือใครควรจะได้รับการลดภาษีลง

หากจะลดภาษีนิติบุคคลลดเหลือ 15% มีการคำนวณไว้หรือไม่ว่าทุก 1% ที่ลดลงจะทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลงเท่าไหร่ ซึ่งหากลองคำนวณคร่าว ๆ จะลดลงประมาณ 30% หรือ 1.9 แสนล้านบาท และในปี 2566 ที่มีการลดภาษีลงหากดูเป็นตัวเงินจะพบว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับจีดีพีจะพบว่าลดลงด้วยซ้ำ หรือหากจะอ้างว่าอยากลดภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax: GMT) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ออกกฎว่าประเทศที่เข้าร่วมต้องเก็บภาษีในอัตรา 15%

การที่จะเก็บภาษีในอัตรา 15% สำหรับคนที่มีรายได้ไม่ถึงสามแสนบาทต่อเดือน จำเป็นจ่ายภาษีที่มากขึ้น การทำงาน 12 เดือนเท่ากับต้องเสียเงินเดือน 1 เดือนไปเป็นภาษี กลับหัวกลับหางกับความตั้งใจของบุคคลธรรมดาที่ต้องสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี

“หากท่านอยากจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้นและกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด ทำไมจึงเลือกที่จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง ทำให้คนธรรมดาต้องจ่ายภาษีเพิ่ม และกลับไปเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจริง ๆ ต้องปรับขึ้นอยู่แล้ว แต่หากท่านไม่มีแผนที่จะเสียรายได้ขนาดนี้จากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นนี้”

นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า กระทรวงการคลังศึกษาการปฏิรูปภาษีอย่างจริงจัง รวมถึงแนวความคิดในการเดินหน้าภาษีชดเชยให้กับผู้ยากไร้ เรียกว่า สวัสดิการถ้วนหน้าผ่านทางโครงสร้างภาษี การจัดเก็บรายได้ของรัฐเทียบกับ GDP 14% เศษ ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานของโลกค่อนข้างมากที่เฉลี่ยจะตกอยู่ที่ 18% สิ่งหนึ่งมาจากการลดหย่อนหลายเรื่อง รวมถึง VAT ภาษีเงินได้ประเภทต่าง ๆ จึงต้องมาศึกษาอย่างจริงจังเพื่อให้จัดเก็บรายได้มากขึ้น ซึ่งต้องกระทบกับประชาชนให้ได้น้อยที่สุด

“แนวความคิดที่มีการพูดคุยกัน ตัวเลข 15 % ก็เป็นไปได้ว่ามีการพูดคุยกันในระดับนานาชาติ เช่น OECD มีการพูดถึงภาษีนิติบุคคล 15% เป็นขั้นต่ำ โดยหลักคิดทุกประเทศไม่ควรมีการแข่งขันกันในเรื่องลดอัตราภาษีอีกต่อไปแล้ว ในอดีตแข่งกันลดราคา ลดหย่อน สุดท้ายไม่มีรายได้เข้ารัฐ พอที่จะนำไปพัฒนาประเทศพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วันนี้จึงมีเกณฑ์ขึ้นมาว่าทุกประเทศมีการเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% สุดท้ายคงเป็นทิศทางของโลกที่จะต้องไหลเข้าสู่ตัวเลขนี้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้เราก็คิดว่า 15% เป็นหนึ่งในตัวเลือกเท่านั้น” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เรื่องของการปรับโครงสร้างภาษีไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียว ใจอยากให้ลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลไกบังคับใช้ไม่ได้เกิดประสิทธิภาพเพียงพอ ขณะที่เรื่องของภาษีเงินได้นิติบุคคล ยังไม่ได้มีข้อตกลง หรือข้อสั่งการและความชัดเจนใด ๆ เป็นเพียงแค่แนวความคิด ยังไม่ได้มีข้อตัดสินใจ หากใช้คำว่าเลือกที่จะทำ ตอบว่ายังไม่ได้ดำเนินการ แต่ข้อเสนอนี้มีเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศและในประเทศให้มากขึ้น

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า เรากำลังจะเข้าร่วม OECD ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย ย้ำว่าไทยไม่ได้เก็บภาษีแบบแนวระนาบ แต่เป็นภาษีแบบคนรวยจ่ายมากกว่าคนจน วันนี้โลกต่อกันทั้งหมด ไม่มีรอยตะเข็บ จึงจำเป็นในการกำหนดอัตราภาษี อย่างไรก็ตาม จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันผลกระทบกับประเทศที่มีความเกี่ยวเนื่อง ทั้งเรื่องการแข่งขันทางการค้า คู่ค้า เพื่อกำหนดให้เป็นอัตราที่มีความเหมาะสม

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า จากการฟังรัฐมนตรีชี้แจงแล้วรู้สึกเหนื่อยเพราะไม่มีเป้าหมาย ไม่รู้ว่าปฏิรูปเสร็จแล้วจะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ รวมถึงยังคิดที่จะดึงดูดนักลงทุนด้วยภาษีทั้งที่หากเข้าร่วมกับภาคีนี้ก็ต้องเก็บภาษีที่ 15% เหมือนกันหมด แทนที่จะเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านอื่น ๆ หรือเพิ่มทักษะให้คนไทยด้วยกันเอง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศว่าสมควรที่จะนำออกมาใช้หรือไม่ และทุกครั้งที่มีการพูดถึงเรื่องนี้มักจะพูดในรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยที่เป็นผู้นำ จึงอยากถามว่ารัฐบาลและกระทรวงการคลังมีแผนที่จะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้จริงหรือไม่ และนำมาจากส่วนไหนของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ จะใช้เท่าไหร่

นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า ทุกอย่างหากดำเนินการต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับจะต้องมีการศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ ทั้งนี้ ไม่กล้าการันตีประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นคนพูด เพราะยังไม่เคยได้ยินจริง ๆ ไม่แน่ใจว่าจับประเด็นมาถูกต้องหรือไม่ หวังว่าถูก แต่สุดท้ายไม่เป็นไร มีประเด็นจั่วหัวมาแล้วคงมีเวลาในสภากันอีกครั้งหนึ่ง

Related Posts

Send this to a friend