POLITICS

‘ณัฐพงษ์‘ อภิปราย 1 ปีสูญเปล่า 3 ปี เจ๊าหรือเจ๊ง ถามนโยบายเรือธงทำเพื่อนายใหญ่ นายทุน นายหน้าใช่หรือไม่

วันนี้ (12 ก.ย.67) ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชน เปิดการอภิปรายด้วยการส่งคำถามถึง สส. สว.และประชาชน ที่กำลังรับฟังการอภิปรายว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องมาอภิปรายการแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันนี้ ซึ่งครบรอบ 1 ปีเต็มการแถลงนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี

หลักการนิติรัฐมีใจความเรียบง่ายหมายถึง ประเทศที่ปกครองด้วยระบบกฎหมาย ไม่ได้ปกครองด้วยการทำตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การออกมาแสดงความคิดเห็นของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเวทีสาธารณะได้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลังขาดระบบนิติรัฐ คนที่มีอคติบางอย่างใช้อำนาจที่มีมาทุบทำลายประหารชีวิตพรรคก้าวไกลที่กลายมาเป็นพรรคประชาชน

ไม่ใช่แค่พรรคก้าวไกลที่ตกเป็นเหยื่อ แต่คณะรัฐมนตรีและประชาชนกำลังตกเป็นเหยื่อเช่นกัน “1 ปีที่สูญเปล่า” จากการตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ 3 ปีต่อจากนี้เป็น 3 ปีที่ขอตั้งชื่อเรียกว่า “รัฐบาล 3 นาย นายใหญ่ นายทุน นายหน้า ที่มีแต่เจ๊ากับเจ๊ง” ไม่มีอนาคตที่ดีขึ้น หากยังสยบยอมกับกระบวนการนิติสงครามที่ทำลายนิติรัฐของประเทศ

”1 ปีที่สูญเปล่า“ ประชาชนได้อะไรจากคำมั่นสัญญาของรัฐบาลชุดที่แล้ว เงินใหม่ยังไม่เข้า ดิจิทัลวอลเล็ตเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ตอนแรกบอกจะให้พร้อมกันและใช้ระบบบล็อกเชนเพื่อสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ก่อนที่จะมีการปรับแผนแบ่งจ่าย จ่ายเป็นเงินสดผ่านบัตรสวัสดิการของรัฐ นโยบายเรือธงลำนี้แทบจะไม่เหลือเค้าโครง ไม่รู้ว่าเรือธงลำนี้ให้ใครขึ้น

นโยบายหนี้สิน เป็นนโยบายที่รัฐบาลที่แล้วตั้งโต๊ะแถลงข่าวประกาศจะแก้หนี้ แต่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า 90.8% ของ GDP เป็นยอดของหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง

ส่วนกลุ่มเกษตรกรไทย 1 ใน 3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งรัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่ได้รัฐบาล ยังเคยประกาศว่าจะทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 4 ปี แต่ผลลัพธ์ที่ได้มีแต่ปัญหาหมูเถื่อน ปลาหมอคางดำที่ทำลายโครงสร้างราคาผลผลิตทางการเกษตร ทำลายสภาพแวดล้อมเป็นปัญหาต่อประมงไทย

หากดูตัวเลขในระดับมหภาค 3 ไตรมาสของการทำหน้าที่รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย ตัวเลข GDP ของภาคการเกษตรไทยลดลง 3 ไตรมาสติด ไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ซึ่งเป็น 3 เดือนแรกของการทำหน้าที่รัฐบาลชุดที่แล้ว GDP ลดลง 0.4% ไตรมาสแรกของปี 2567 ตัวเลขลดลดลง 2.7 % ไตรมาสที่สองของปี 2567 ตัวเลขก็ลดลงไป 1.1% ไม่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นด้วย

ภาคธุรกิจ รัฐบาลบอกว่าจะปรับโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศ เพื่อลดราคาพลังงานสิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลยังไม่มีการเจรจาสัมปทานกับนายทุนพลังงาน ทำให้ราคาพลังงานไฟฟ้ายังแพงอยู่ รัฐบาลจึงแก้ไขปัญหาด้วยการติดหนี้การไฟฟ้ารวม 1 แสนล้านบาท สุดท้ายต้องใช้เงินภาษีของประชาชนใช้หนี้อยู่ดี มองไปในอนาคตยิ่งสิ้นหวังกับการลดต้นทุนพลังงาน ร่างแผนพัฒนาพลังไฟฟ้ามีการคาดการณ์เกินจริง มีแต่กลุ่มทุนพลังงานที่จะได้รับประโยชน์ เข้ามาประมูลโรงไฟฟ้าที่ล้นเกิน ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่าย FT ทั้งยังจะทำให้ประเทศไทยมีพลังงานที่ไม่สะอาดเพิ่มเข้ามาในระบบระบบไฟฟ้า ไม่สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ที่ให้สัญญากับประชาคมโลกไว้ว่าไทยจะเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนใน 2593 นอกจากนี้ยังมีปัญหาสินค้านำเข้าล้นทะลัก ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ทางกฎหมายดำเนินธุรกิจผ่านตัวแทน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยที่ทยอยปิดกิจการลง

ปัญหาความมั่นคงในชีวิตของประชาชน ด้านยาเสพติดเป็นปัญหาที่รัฐบาลทำท่าจะสั่งการเพื่อให้มีการแก้ไขอย่างจริงจัง แต่ปัจจุบันมีจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและครอบครองไว้เสพเพิ่มมากขึ้น แต่การอายัดทรัพย์มีสัดส่วนน้อยลง สาวไปไม่ถึงต้นตอ

เรื่องสวัสดิการสังคม รัฐบาลที่ผ่านมาแทบจะไม่มีการเพิ่มทั้งสวัสดิการเด็กเล็ก 600 บาทถ้วนหน้า สวัสดิการผู้พิการยังไม่ปรับเพิ่ม เช่นเดียวกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นโยบายพัฒนาสถานชีวาภิบาล ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนสำหรับสังคมสูงวัย รัฐบาลชุดที่แล้วมีการระบุไว้ในคำแถลงนโยบาย สะท้อนว่าคนไทยไม่มีความมั่นคงในชีวิตขึ้นเลย

จากผลการศึกษาของเว็บไซต์ Thai Publica สรุปว่าช่วง 11 เดือนของการทำหน้าที่ของนายเศรษฐา ได้ออกข้อสั่งการที่มีผลเทียบเท่ามติ ครม.ไปแล้ว 193 เรื่อง ส่งต่อไปยัง 251 หน่วยงานรัฐ มี 162 เรื่องที่ไม่ได้กำหนดกรอบเวลา จึงมีเพียง 10 เรื่องที่หน่วยงานตอบกลับ และนำกลับมารายงานต่อนายกฯ

สถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงปัญหา 2 อย่าง หากไม่ใช่เพราะนายเศรษฐาไม่เข้าใจกระบวนการขับเคลื่อนงานของรัฐ ก็คงเป็นเพราะรัฐบาลขาดอำนาจนำในการจัดตั้งรัฐบาล นายกฯ สั่งการแต่ราชการไม่ปฏิบัติตาม

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดคือ 1 ปีที่สูญเปล่าของประชาชน ไม่ว่าจะมองไปที่กลุ่มคนยากไร้ เงินใหม่ยังไม่เข้า หนี้เก่าไม่แก้ กลุ่มเกษตรกร โครงสร้างราคาและผลผลิตทางการเกษตรถูกทำลาย รายได้มีแต่ลด ภาคธุรกิจต้องเจอกับปัญหาต้นทุนพลังงาน สินค้านำเข้าล้นทะลัก กลุ่มประชาชนทั่วไปความมั่นคงในชีวิตไม่มี ยาเสพติดระบาด สวัสดิการไม่ทั่วถึงมีแต่ความล้มเหลว เป็นผลมาจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว นายกฯ ขาดอำนาจนำ มีการสั่งการมากที่สุดแต่ไร้ผล เพราะดูออกว่าสมาธิในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลถูกเอาไปใช้กับการปกป้องช่วงชิงเก้าอี้ และตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ แบ่งสรรตามระบบโควตา เพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง

ส่วน “3 ปี จะเจ๊าหรือเจ๊ง” คาดหวังจะเห็นคำแถลงนโยบายที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ด้านการศึกษา ประเทศไทยยังตามไม่ทันโลก ประสบปัญหาวิกฤติการศึกษามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา คนไทยมากกว่า 50% ของแรงงานทั้งหมดยังขาดทักษะที่จำเป็นในโลกอนาคต การอัปสกิลและรีสกิลแรงงานรัฐบาลที่ผ่านมาทำได้เพียงน้อยนิด

ด้านการแข่งขันกับต่างประเทศ สินค้านำเข้าล้นทะลัก SMEs ทยอยปิดตัว ทั้งยังคาดการณ์ว่าในปี 2567 ประเทศไทยน่าจะมียอดขาดดุลการค้ากับกับจีนสูงกว่าปีที่ผ่านมา ด้านการแข่งขันอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เรายังขาดความชัดเจนในการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นรูปธรรม

ความท้าทายชีวิตรายวัน ประชาชนคนไทยต้องเจอกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สร้างมูลค่าความเสียหายต่อประเทศไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งยังมีเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่เคยอยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนแต่กลับไม่ปรากฏอยู่ในแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดนี้

ด้านภัยพิบัติ ผลผลิตของเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ในพื้นที่เชียงใหม่ และเชียงรายต้องประสบกับปัญหาอุทกภัย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านสิ่งแวดล้อม ถ้ารัฐบาลทำงานเป็นจะสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสจัดทำแผนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สิ่งที่อยากเห็นมากกว่าคำแถลงนโยบายคือ รายละเอียด อยากจะให้รัฐมนตรีลุกขึ้นตอบเพราะยิ่งเป็นนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ รัฐบาลจะต้องรู้ลึก รู้จริง พร้อมนำไปปฏิบัติได้ทันที สำหรับนโยบายเรือธง พวกเรามีคำถามว่าเป็นนโยบายเรือธงเพื่อใคร “เพื่อนายใหญ่ นายหน้า และนายทุน” ยกตัวอย่างนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่มีการกลับไปกลับมาจนวันนี้เงินก็ยังไม่เข้า เป็นนโยบายเรือธงที่ให้นายใหญ่ขึ้นใช่หรือไม่

นโยบาย Entertainment Complex มีข้อครหา จะมีการเปิดกว้างในการประมูลหรือล็อคการประมูล เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นนโยบายเรือธงที่ให้ให้นายทุนขึ้นใช่หรือไม่

ส่วนนโยบายแลนด์บริดจ์ มีการตั้งข้อสงสัยถึงการใช้งบประมาณของรัฐในการเวนคืนที่ดินจำนวนมากว่า เป็นนโยบายที่เอื้อให้กับนายหน้าค้าที่ดินใช่หรือไม่

สรุปแล้วนโยบาย 3 เรือธงของรัฐบาลมีประชาชนอยู่ตรงไหน ประเทศไทยในวันนี้เดินมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ เมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎรมีวาระโหวตนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ พรรคประชาชนยืนยันว่าพวกเราจะไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ถอดถอนนายเศรษฐา ออกจากตำแหน่ง ยืนยันไปยังสังคมว่าสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างนิติรัฐ และหยุดยั้งกระบวนการนิติสงคราม ที่นักการเมืองผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยตรงมาจากประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดกำลังถูกถอดถอนทุบทำลาย ด้วยกลไกทางจริยธรรม

สิ่งที่อยากเห็นในหัวข้อแรก ๆ ของนโยบายเร่งด่วนคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากเดิมนโยบายนี้เคยด่วนในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 กลายเป็นไม่ด่วนหลังจัดตั้งรัฐบาล ในฐานะที่ตนเองและนายกฯ เพิ่งมาดำรงตำแหน่งสูงสุดในซีกฝั่งการเมืองเป็นครั้งแรกใน ชีวิต ตนเองและนายกฯ เกิดมาในสังคมยุคเดียวกัน ถูกหล่อหลอมและผ่านสถานการณ์ในประเทศมาแบบเดียวกัน ถ้าจะพูดให้แฟร์ตนเองคิดว่านายกฯ ผ่านประสบการณ์ในชีวิตได้รับผลกระทบทางการเมืองโดยเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัยมาหนักกว่า

วันนี้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำสูงสุดในฝ่ายรัฐบาล ส่วนตนเองเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งจะได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้นำฝ่ายค้านในอนาคตอันใกล้ เชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ตนเองและนายกฯ มาอยู่ตรงนี้นอกจากสถานการณ์พาไปคือ เราสองคนตัดสินใจที่จะรับตำแหน่งเพื่อเดินหน้าต่อคนที่อยู่ข้างหลัง

ตนเองตัดสินใจรับบทบาทนี้ เพื่อนำพายานพาหนะที่มีชื่อว่า “อนาคตใหม่ ก้าวไกล ประชาชน” เดินหน้าต่อ เพื่อทำให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน คำพูดของท่านในวันแถลงนโยบายมีผลผูกมัด ต่อจากนี้อีก 3 ปีอยากให้นายกฯ พูดนอกสคริปต์ที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมมา อยากให้ท่านแสดงบทบาทความเป็นผู้นำ ผู้นำที่ดีนอกจากการรับฟังสมาชิก ต้องชี้นำความคิดที่ถูกที่ควรให้กับสมาชิกและสังคมได้

อยากให้นายกฯ ชี้นำรัฐบาลของท่านด้วยกันลุกขึ้นตอบว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศ เราสามารถดำเนินการคู่ขนานไปได้สองเส้นทางเส้นทางแรกคือ การแก้ไขทั้งฉบับ ตั้ง สสร. อีกส่วนหนึ่งคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ควรถูกบรรจุไว้เป็นนโยบายเร่งด่วน 4 เรื่อง

1.แก้ไขมาตรฐานจริยธรรม จัดวางตำแหน่งขององค์กรอิสระศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีความเหมาะสมเป็นไปตามหลักสากล

2.ยกเลิกมาตรา 279 เพื่อเร่งรัดยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช.
3.เพิ่มหมวดป้องกันและการต่อต้านรัฐประหาร
4.ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฎิรูปประเทศ ฉบับ คสช.

พวกเราสามารถเดินหน้าร่วมกันได้ประคับประคอง ให้ระบบการเมืองยึดโยงกับประชาชน และมีประชาชนอยู่ในสมการมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายวาระที่สามารถผลักดันร่วมกันได้ เช่น การปฏิรูปรัฐครั้งใหญ่ การกระจายอำนาจ การปฏิรูประบบงบประมาณและโครงสร้างภาษี การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การเพิ่มสวัสดิการประชาชน การปลดล็อกชนบทไทย การรู้เท่าทันโลกและเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีคุณภาพ

ทั้งหมดพวกเราพรรคประชาชนเคยเสนอร่างแก้ไขกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรหลาย 10 ฉบับ ตอนนี้กองอยู่บนโต๊ะของนายกฯ

นายณัฐพงษ์ ตั้งคำถามถึงเหตุผลการประชุมร่วมของรัฐสภาวันนี้ เป็นเพราะประเทศยังไม่ได้อยู่ในระบบนิติรัฐใช่หรือไม่ นำสู่การอภิปราย 1 ปีที่สูญเปล่าอันเนื่องมาจากการฟอร์มคณะรัฐมนตรีที่ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการการตัดสินใจ รัฐบาล 3 ปีต่อจากนี้จะเจ๊าหรือเจ๊ง เพราะยังมีการจัดตั้งรัฐบาลแบบตัวแทน

Related Posts

Send this to a friend