‘สกลธี’ ชูก้าวข้ามความขัดแย้ง – เตือน’ ก้าวไกล’ ใช่ว่าจะใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย

‘สกลธี’ ชูก้าวข้ามความขัดแย้ง ซัด ‘ก้าวไกล’ ขู่บ้านเมืองลุกเป็นไฟหากถอดถอน ‘พิธา’ เตือนได้คะแนนถล่มทลาย ใช่ว่าจะใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย
วันที่ (12 พ.ค.66) นายสกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ผู้ดูแลการเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. ขึ้นปราศรัยใหญ่ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง) พร้อมกล่าวว่าเราอยากเห็นประเทศเดินไปทางไหน อยากเห็นบ้านเมืองแตกแยกทางความคิดรุนแรง คนรุ่นใหม่ไปทาง คนรุ่นเก่าไปทาง หรืออยากเห็นสถาบันหลักของชาติที่เราเคารพนับถือถูกนำมาพูดคุยสนุกปาก ไร้ความเคารพ หรืออยากเห็นการชุมนุม สาเหตุที่ต้องตั้งคำถามแบบนี้กับทุกคน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา การเมืองไทยทุกระดับติดหล่มความขัดแย้ง ตั้งแต่การเมืองท้องถิ่น ระดับชาติ เลือกด้วยความเกลียดชัง พวกฉัน พวกเธอ สีนั้น สีนี้ โดยไม่ได้ดูว่าผู้สมัครมีคุณภาพอย่างไร หรือแต่ละพรรคเสนอนโยบายอะไรบ้าง หรือแม้แต่ช่วงนี้จะเป็นการหาเสียง ยังเห็นมีความรุนแรงจากความเห็นต่างอยู่เสมอ
ทั้งนี้เมื่อ 2 วันที่แล้ว นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ถูกบุกไปตบหน้าเป็นครั้งที่สองแล้ว เพียงเพราะนายศรีสุวรรณ ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ทำให้กองเชียร์ฝ่ายตรงข้ามไม่พอใจ แต่ที่น่าแปลกมีคนสะใจ และมีคนให้รางวัลกับคนลงมือ เราจะปล่อยให้ประเทศเป็นแบบนี้หรือไม่ หรือเมื่อวันก่อน มีเยาวชนไปแสดงจุดยืนที่ สน.สำราญราษฎร์ มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนได้รับบาดเจ็บที่หัว มีการเอาสีไปสาด เราอยากเห็นแบบนี้หรือ หรือการตรวจสอบคุณสมบัตินักการเมืองกรณีถือหุ้น ทุกคนที่อาสาเข้ามาเป็นผู้แทนต้องยอมรับการตรวจสอบให้ได้ เคารพข้อห้าม ที่พูดเรื่องนี้เพราะเป็นห่วง เนื่องจากมีแกนนำบางพรรคเมืองพูดว่าถ้าได้รับการเลือกตั้งถล่มทลาย ถ้ามีการใช้กฎหมายทำให้โดนถอดถอน บ้านเมืองลุกเป็นไฟแน่ เพราะประชาชนไม่ยอม
“อยากเตือนสติว่า ไม่ว่าคุณจะได้รับการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรก็ได้ จะใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย จะเอามวลชนมาพิพากษาหรือฟอกผิดให้ใครไม่ได้ แล้วบ้านเมืองจะอยู่อย่างไร มวลชนปะทะกันบ้านเมืองจะสงบสุขได้อย่างไร”
นายสกลธี กล่าวว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้แปลว่า เสียงข้างมากจะถูกต้องทุกอย่าง การชนะทำให้มีโอกาสบริหารบ้านเมือง แต่ไม่ได้ทำให้อยู่เหนือกฎหมาย ถ้าทำแบบนั้นบ้านเมืองลุกเป็นไฟแน่ ฉะนั้นการชูแนวทางการก้าวข้ามความขัดแย้งจึงเป็นยิ่งกว่านโยบายของพรรคพลังประชารัฐ เพราะถ้าเราก้าวข้ามความขัดแย้งไม่ได้ มีนโยบายดีแค่ไหนก็ไม่มีค่า เพราะประเทศจะไม่เหลืออะไร ความรักใคร่กลมเกลียวหลายสิบปีจะแตกหัก
ตนเองโดนถามเยอะว่า การก้าวข้ามความขัดแย้งคืออะไร หมายความว่าเราจับกับทุกคน จับกับทุกขั้วหรือไม่ ขอชี้แจงว่าไม่ใช่ แต่คือการทำให้ประชาชนในประเทศกลับมารักกันให้ได้เหมือนเดิม ฟังคนที่เห็นต่าง แตกต่างกันแต่อยู่ด้วยกันได้ เป็นความสวยงามในระบอบประชาธิปไตย
“ แม้การก้าวข้ามความขัดแย้งจะเป็นคำตอบของประเทศ แต่จะมีเส้นที่ก้าวข้ามไม่ได้คือ ข้ามศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่เป็นเสาหลักของประเทศนี้ ดังนั้น หากพรรคใดไม่เอา ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือทำการใดให้สั่นคลอน ถึงจะขัดแย้งก็ต้องขัดแย้ง เพราะยอมรับไม่ได้ เป็นจุดยืนที่เข้มแข็งที่สุดของพลังประชารัฐ”