POLITICS

ศรีปทุม-ดีโหวต เผยผลสำรวจความนิยมทางการเมือง ชี้ ‘เพื่อไทย’ นำโด่งทุกหมวด

มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) ร่วมกับดีโหวต (D-vote) เปิดผลสำรวจ ‘คะแนนความนิยมทางการเมือง 2566’ ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2566 จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกช่วงอายุ ภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,922 ตัวอย่าง ค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0 ผ่านระบบสำรวจความเห็นสาธารณะออนไลน์ของดีโหวต

ผลสำรวจ พบว่าพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 44.31 อับดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 21.54 อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 9.56 อันดับ 4 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 4.04 อันดับ 5 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 3.89 สำหรับผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ประชาชนจะเลือกเป็นอันดับ 1 คือ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 42.89 อันดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 17.29 อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 8.07 อันดับ 4 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 6.05 และอันดับ 5 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 5.31

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนให้พรรคการเมือง 3 อันดับแรก ได้แก่ ความสามารถและวิสัยทัศน์ ร้อยละ 56.82 รองลงมาเป็นอุดมการณ์พรรค ร้อยละ 43.58 และเคยทำสำเร็จมาแล้วในอดีต ร้อยละ 35.71 โดยปัญหาที่ประชานส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลหน้าเร่งแก้ไขเป็นลำดับแรก ได้แก่ ค่าครองชีพและราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ร้อยละ 44.87 รองลงมาคือความยากจนและปัญหาหนี้สิน ร้อยละ 33.47 และเศรษฐกิจอ่อนแอ ร้อยละ 28.39

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัช เลิศไพรฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่าความร่วมมือของมหาวิทยาลัยศรีปทุมและดีโหวต ในการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการวิจัยทางด้านการเมือง จะเน้นผลที่ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถนำไปใช้เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นนโยบายและการปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกด้านจะเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาหันมาสนใจสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากกลุ่มเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และผู้อำนวยการดีโหวต กล่าวว่า การนำเทคโนโลยี Blockchain และ KYC (Know Your Customer) มาใช้ในกระบวนการสำรวจความเห็นสาธารณะ จะช่วยคลายข้อสงสัยของประชาชนที่มีต่อผลโพล โดยประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการโหวต ซึ่งระบบจะมีการแสดงผลแบบเรียลไทม์ อีกทั้งเทคโนโลยีที่สำนักโพลฯ ใช้ ยังสามารถพัฒนาไปสู่การแสดงความเห็นในเชิงคุณภาพที่ประชาชนสามารถพิมพ์ส่งความเห็นได้อย่างอิสระ ซึ่งประมวลผลด้วยระบบ AI

Related Posts

Send this to a friend