POLITICS

วิจัยจุฬาฯ เผยแรงงานอาชีวะไทยมีศักยภาพดันเศรษฐกิจไทย

เป็นที่ยอมรับในตลาดแรงงาน แนะส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวก และปรังปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยขึ้น

รศ.ดร.จุลนี เทียนไทย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญและความจำเป็นในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานอาชีวศึกษาไทยว่า นักเรียนอาชีวะและแรงงานทางด้านอาชีวศึกษาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ ถือเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติ และมีศักยภาพในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง

ทั้งนี้ รศ.ดร.จุลนี พร้อมด้วย ดร.กุลนิษฐ์ สุธรรมชัย และคณะ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัย “การพัฒนาศักยภาพและเอกลักษณ์แรงงานอาชีวศึกษาไทยใน 3 อุตสาหกรรมหลัก: การวิเคราะห์ผ่านแผนที่เส้นทางการก้าวเข้าสู่แรงงานอาชีวศึกษาไทย ภายใต้แนวคิดความปกติใหม่” ตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึง พฤษภาคม 2565 โดยผลการศึกษาสะท้อนปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับอาชีวศึกษาไทย จุดเด่น-เอกลักษณ์อาชีวะไทยที่เป็นที่ยอมรับในตลาดแรงงาน ซึ่งน่าส่งเสริมยกระดับให้ดียิ่งขึ้น

“เราต้องการฉายภาพลักษณ์ในเชิงบวก จุดแข็ง และเอกลักษณ์ของแรงงานอาชีวศึกษาไทยที่มาจากมุมมองของ ‘คนใน’ เพื่อให้สังคมเห็นภาพของอาชีวศึกษาที่รอบด้านมากขึ้น ที่ไม่ได้มีเพียงการทะเลาะวิวาทดังในภาพข่าว” รศ.ดร.จุลนี กล่าว

สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดี สาขาสังคมวิทยา ประจำปี 2566 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยผลการวิจัยเผยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกเรียนด้านอาชีวศึกษาของนักเรียน ได้แก่

ปัจจัยภายใน คือ การรู้จักตัวเองว่ามีความชื่นชอบและสนใจการเรียนอาชีวะซึ่งเน้นการลงมือปฏิบัติ และมีเป้าหมายอาชีพในอนาคตชัดเจน

ปัจจัยภายนอก ซึ่งคนรอบตัว โดยเฉพาะครอบครัวเป็นแรงบันดาลใจให้เลือกเรียนอาชีวะ การเห็นโอกาสที่จะได้งานทำหลังเรียนจบ สามารถหารายได้พิเศษระหว่างเรียน ส่วนเหตุผลด้านการเงิน เช่น ค่าใช้จ่ายในการเรียนที่ไม่เป็นภาระครอบครัว การได้รับทุนการศึกษา การได้รับคำแนะนำจากครูแนะแนว และการประชาสัมพันธ์จากสถาบันอาชีวศึกษา รวมถึงภาพลักษณ์และชื่อเสียงของสถาบันอาชีวศึกษาและบริบทพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่เด่นในเรื่องการท่องเที่ยว จะมีนักเรียนที่อยากเรียนสาขาการท่องเที่ยว เป็นต้น

รศ.ดร.จุลนี กล่าวว่า อาชีวศึกษาเป็นทางเลือกที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าการเรียนสายสามัญ หรืออาจได้เปรียบกว่าเมื่อเดินเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยปีที่ทำวิจัย สายอาชีวศึกษาในประเทศไทยมีการเรียนการสอนกว่า 11 ประเภทวิชา และจำนวนสาขาวิชาที่เปิดสอนกว่า 93 สาขาวิชา ซึ่งสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้หลากหลาย ปัจจุบันมีถึง 102 สาขาวิชา

“อาชีวศึกษานั้นไม่ได้เรียนง่ายและไม่ได้ด้อยกว่าสายสามัญ อาชีวศึกษาคือการเรียนในสิ่งที่ใช้ได้จริง และนักเรียนจะได้พัฒนาตัวเองในหลากหลายทักษะ ซึ่งเมื่อเรียนจบก็สามารถเป็นผู้ประกอบการหรือเติบโตในเส้นทางอาชีพของตนเองได้” รศ.ดร.จุลนี กล่าว

รศ.ดร.จุลนี กล่าวอีกว่า แรงงานอาชีวศึกษาไทยเป็นที่ยอมรับและต้องการในตลาดแรงงานทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ลักษณะงานต้องใช้ทักษะฝีมือและความชำนาญสูง แรงงานอาชีวศึกษาไทยจะยิ่งมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ อาชีพด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม ศิลปกรรม และอาหาร

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคหลายประการสำหรับนักเรียนอาชีวะ โดยพบว่าอุปกรณ์การเรียนการสอนไม่เพียงพอ ชำรุดหรือตกรุ่นไปแล้ว ไม่มีสื่อการสอนที่หลากหลายและเหมาะสม ไม่มีห้องปฏิบัติการจำลองการทำงานเสมือนจริง หรือมีแต่ไม่ครบถ้วน ส่วนหลักสูตร วิชาสามัญเน้นท่องจำและสั่งงานมากกว่าวิชาหลักในสายอาชีพ รายวิชามีเนื้อหาไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง บางรายวิชามีเนื้อหาที่ยากเกินความจำเป็น ด้านบุคลากรพบว่าครูมีไม่เพียงพอ หรือไม่มีความเชี่ยวชาญในวิชาที่สอน ขาดทักษะทางเทคโนโลยี

งานวิจัยยังชี้ให้เห็นปัญหาการลาออกระหว่างเรียน ซึ่งมีหลายสาเหตุ ทั้งเพิ่งค้นพบว่าสาขาที่เรียนไม่ถนัดและไม่ตรงตามบุคลิกภาพ หรือจริตนิสัย มีสาเหตุมาจากความเข้าใจผิดและการไม่มีข้อมูลหรือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาขาที่เรียน ไม่ทราบถึงความถนัดของตน รวมทั้งเกิดตั้งครรภ์ระหว่างเรียน

ส่วนปัญหาอุปสรรคที่แรงงานอาชีวศึกษาพบในช่วงการทำงาน คือผลกระทบจากภาพลักษณ์ในแง่ลบของอาชีวศึกษา ทำให้ถูกตีตรา ถูกสบประมาทแบบเหมารวมตามภาพจำเกี่ยวกับนักเรียนอาชีวศึกษา รวมทั้งถูกลดทอนคุณค่าว่าด้อยกว่าคนที่จบสายสามัญและมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ผลการวิจัยได้ให้ข้อเสนอโดยภาพรวม ที่จะช่วยให้อาชีวศึกษาไทยพัฒนา และสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาให้ดียิ่งขึ้นในสังคม ทั้งการสร้างสถาบันอาชีวศึกษาเฉพาะทางของสาขาอาชีพและพัฒนาให้โดดเด่น ได้มาตรฐานนานาชาติ เพิ่มการออกข่าวในด้านดีและความสำเร็จของนักเรียนและแรงงานอาชีวศึกษาให้มากขึ้น มีระบบการดูแลสนับสนุนกลุ่มนักเรียนที่มีฝีมือหรือเคยชนะการประกวดได้รางวัล รวมถึงการสร้างความผูกพันระหว่างอาชีวศึกษากับชุมชน ผ่านการส่งเสริมให้อาชีวศึกษากับชุมชนร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ของตนเอง

ด้านการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน ควรให้ความสำคัญกับการสอนภาษาต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเน้นให้นักเรียนสามารถสื่อสารได้จริง โดยเฉพาะทักษะการพูด สนับสนุนการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะที่หลากหลายและตอบโจทย์ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มากขึ้น ทั้งนี้ หลักสูตรอาชีวศึกษาควรมีการปรับปรุงให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ควรให้สถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรและมาเป็นวิทยากรพิเศษสอนนักเรียนในสถาบันอาชีวศึกษา

รศ.ดร.จุลนี กล่าวเพิ่มเติมว่าภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ภาคเอกชน และสถาบันอาชีวศึกษา ควรร่วมมือกันสร้างระบบที่เป็นโปรแกรมพัฒนาและดูแลนักเรียนอาชีวะผู้มีศักยภาพ (Talent Incubation) ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถติดตามแรงงานอาชีวศึกษาที่ประสบความสำเร็จให้กลับมาเป็นรุ่นพี่ที่ให้ข้อมูลรุ่นน้อง เป็นการสร้าง Role Model สร้างแรงจูงใจจากผู้ประสบความสำเร็จจริง และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอาชีวศึกษาได้อีกทางหนึ่ง

Related Posts

Send this to a friend