POLITICS

4 สส.ก้าวไกล ลาออก กมธ.แลนด์บริดจ์

4 สส.ก้าวไกล ลาออก กมธ.แลนด์บริดจ์ ลั่นไม่ขอเป็นตรายางรับรองผลศึกษาที่ไม่รอบด้าน หลัง กมธ.ยึดผลศึกษา สนข. เป็นหลัก-ตัดความเห็นสภาพัฒน์ออก หวั่นรัฐบาลใช้ข้อมูลนี้หลอกต่างชาติลงทุน

วันนี้ (12 ธ.ค. 66) เวลา 11:20 น. นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ, นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล กรรมาธิการ และ รศ.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ กรรมาธิการ แถลงข่าวหลังร่วมประชุม กมธ.แลนด์บริดจ์เป็นนัดสุดท้าย เพื่อพิจารณาอนุมัติรายงานผลการศึกษาของ กมธ.

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กรรมาธิการพรรคก้าวไกลได้ทักท้วง ถึงความไม่สมบูรณ์ของ ความจำเป็น ที่กรรมาธิการควรได้รับคำตอบและคำชี้แจงจากสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการศึกษาโครงการนี้ในหลายคำถามและหลายประเด็น ก่อนที่คณะจะพิจารณาอนุมัติรายงานผลการศึกษา คำถามและปัญหาต่างๆดังกล่าวเท่าที่รวบรวมได้ เช่น เรื่องท่อส่งน้ำมัน ไม่มีความชัดเจน ,เรื่องการเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาสภาพแวดล้อม ซึ่งอาจจะขัดกับมติ ครม. ก่อนหน้านี้ , เรื่องความน่าเชื่อถือการประเมินความต้องการของบริษัทเดินเรือ ที่จะใช้โครงการแลนด์บริดจ์ , เรื่องการประเมินความแออัดของ สภาพัฒนาการและเศรษฐกิจแห่งชาติที่ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ศึกษา พบว่าโครงการแลนด์บริดจ์ไม่คุ้มค่าการลงทุน ในขณะที่ผลการศึกษาของ สนข. ให้ตัวเลขผลตอบแทนการลงทุนสูงถึง 17% ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจจะทำให้นายกรัฐมนตรีสื่อข้อมูลผิดกับนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งในระยะ 2-3 ปีนี้ รัฐบาลได้ใช้งบประมาณถึง 68 ล้านบาท ในการศึกษาโครงการนี้ แต่จนถึงวันนี้โครงการนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด

สำหรับวันนี้ประชุม กมธ.แลนด์บริดจ์ คณะกรรมาธิการที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล ได้พยายามทักท้วงรายงานที่ยังไม่สมบูรณ์ แต่เนื่องจาก สส.พรรคก้าวไกลมีจำนวนเสียงส่วนน้อย คณะกรรมาธิการจะอาศัยมติที่ประชุมเพื่อพิจารณาอนุมัติรายงานในวันนี้ ดังนั้นกรรมาธิการที่เป็น สส.พรรคก้าวไกล ที่มีทั้งหมด 4 คน จึงขอถอนตัวและลาออกจากกรรมาธิการโดยให้มีผลทันทีในวันนี้ ได้แก่ นายจุลพงศ์ อยู่เกษ รองประธาน กมธ., น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล กรรมาธิการและที่ปรึกษา, นายประเสริฐพงศ์ ศรนุวัฒน์ กรรมาธิการ และ นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรรมาธิการ

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า จริงๆแล้วมีการซักถามค้างอยู่จากวันที่ 22 ธันวาคม กับทาง สนข. และที่ปรึกษาที่จัดทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแลนด์บริดจ์ ยังคงถกเถียงเพื่อที่จะได้ข้อสรุปเรื่องข้อมูลข้อเท็จจริง ว่ามีความเป็นไปได้ มีความคุ้มค่ามากแค่ไหนกับโครงการนี้ ทั้งเรื่องการประมาณการสินค้า เส้นทางเดินเรือ ประเภทของเรือ มีสมมติฐานอย่างไร รวมถึงสมมติฐานการเจริญเติบโตของท่าเรือ

น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า วันการประชุมครั้งนั้น สนข.ตอบคำถามเดียว แล้วประธานก็สั่งปิดประชุม พร้อมบอกว่าจะให้มีการเชิญมาอีกครั้ง เพื่อให้ตอบคำถามให้สิ้นสงสัย แต่กลายเป็นว่าวันนี้จะเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาตัวรายงาน ซึ่งหมายความว่าเป็นครั้งสุดท้าย ทั้งที่ยังคงได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ประธานไม่ได้เชิญ สนข.มาอีกครั้ง จึงไม่สามารถร่วมลงมติหรือเป็นตรายางที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติได้ เพราะว่ายังไม่สามารถที่จะพิจารณาตัวรายงานฉบับนี้ได้อย่างแท้จริง และท้ายที่สุดก็ยังไม่ได้มีการขอต่อขยายอายุของคณะธิการชุดนี้ออกไป เพื่อที่จะให้การพิจารณาอย่างต่อเนื่อง โดยการเชิญตัวแทนของหน่วยงาน เช่น สนข. หรือที่ปรึกษาโครงการนี้ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม จึงคิดว่าไม่สามารถที่จะดำรงตำแหน่งอยู่ในกรรมาธิการชุดนี้ได้

ด้าน รศ.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ กล่าวว่า โครงการนี้ได้วิเคราะห์ความคุ้มค่าใน 3 กลุ่มเป้าหมาย เป้าหมายหลักคือสินค้าถ่ายลำ ประมาณ 78% ส่วนเป้าหมายที่สอง ก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ เป็นเรื่องที่เห็นด้วยและควรเร่งทำ แต่การที่เราฝากไปกับตัวเลขของสินค้าถ่ายลำ จึงต้องการความชัดเจนจริงๆ เพราะเป็น 78% ของการประมาณการ ดังนั้นชะตากรรมของโครงการนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้าถ่ายลำ เราไม่สงสัยตัวเลขประมาณการสินค้าภาคใต้หรือสินค้าของประเทศไทย ยินดีที่จะมีการกระตุ้นพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้อย่างจริงจัง แต่การที่โครงการนี้ไปวางความสำคัญไว้ที่สินค้าถ่ายลำหรือสินค้าต่างประเทศไว้มาก

ด้านนายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ระบุว่า เจตนารมย์ของตน คือมาหาคำตอบให้กับพี่น้องประชาชนว่าจริงๆแล้วโครงการแลนด์บริดจ์ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่ จะกำไรหรือขาดทุน แต่สิ่งที่เราพยายามทำมารวม 90 วัน เรายังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมรายงานของสภาพัฒน์ถึงแตกต่างกับรายงานของ สนข. จนถึงทุกวันนี้ข้อมูลหลายๆ อย่างที่ในรายงานที่กำลังจะมีการลงมติเห็นชอบนี้ ก็ยังใช้ข้อมูลที่เป็นของ สนข.เกือบทั้งหมด โดยที่เราไม่มีเหตุผลคำว่าทำไมเราถึงตัดข้อมูลของสภาพัฒน์ทิ้ง ในฐานะที่เราเป็นผู้ศึกษา เราไม่ควรเลือกว่าจะหยิบข้อมูลไหนและไม่หยิบข้อมูลไหนมาใช้ เรามีหน้าที่นำข้อมูลรอบด้านทั้งหมดใส่ลงไปในรายงาน และอ้างอิงว่าข้อมูลที่เราได้มานั้นได้มาจากหน่วยงานไหน

แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในแรงงานของ กมธ.ขอใช้คำว่าเราใช้ข้อมูลของ สนข.เป็นตัวตั้ง อาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศเพราะกำลังนำข้อมูลด้านเดียวจากหน่วยงานราชการไปขายกับต่างประเทศว่าสามารถลดระยะเวลาขนส่งและทำกำไรจะสร้างเศรษฐกิจได้ จึงขอถามว่าหากต่างประเทศมีข้อมูลโต้แย้งว่าเมื่อศึกษาแล้วโครงการนี้ไม่คุ้มทุนเหมือนกับที่รัฐบาลไทยไปขาย จะหมายถึงว่าประสิทธิภาพในการทำข้อมูลศึกษาวิจัยของรัฐบาลไทยแย่หรือเปล่า หรือรัฐบาลไทยกำลังไปหลอกให้ต่างชาติมาลงทุนหรือเปล่า ดังนั้นหากรายงานออกไปแบบนี้เรากำลังใช้กรรมาธิการหรือสภาผู้แทนราษฎรเป็นตรายางประทับลงไป จึงไม่ขอมีส่วนในการรับรอง

Related Posts

Send this to a friend