POLITICS

‘อาดิลัน’ เชื่อ ตร. ขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เหตุผู้ปฏิบัติวิตกกังวล

คณะอนุกมธ.ศึกษาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมฯ เคาะเสนอ กมธ.กฎหมายฯ ส่งผลศึกษาความพร้อมทุกหน่วยงานต่อ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ถึงสภาฯ-นายกรัฐมนตรี ‘อาดิลัน’ เชื่อ ตร. ขยายเวลาบังคับใช้ เหตุผู้ปฏิบัติวิตก แนะซักซ้อมความเข้าใจเจ้าหน้าที่

วันนี้ (12 ม.ค. 66) คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร มีการประชุมที่อาคารรัฐสภา โดยมีการหารือกันถึงหนังสือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เรียนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอเสนอความเห็นให้ขยายระยะเวลาบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ตามกำหนด 180 วันภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565

The Reporters คุยกับ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ยะลา พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ถึงการหารือในประเด็นดังกล่าวในที่ประชุม

นายอาดิลัน เปิดเผยว่า หนังสือของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น ชี้แจงถึงปัญหาอุปสรรคเรื่องความไม่พร้อมในเครื่องมือในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน รวมถึงความเข้าใจกฎหมายของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งอ้างว่าเป็นความเห็นที่แจ้งในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565

แต่ในการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการที่มีการประชุมเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 65 นั้น มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด ฯลฯ ซึ่งทุกหน่วยงานโดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันในวันนั้นว่า มีความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างยิ่ง

นายอาดิลัน ในฐานะประธานฯ เปิดเผยมติที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ในวาระพิจารณาหนังสือฉบับดังกล่าวนี้ว่า ให้คณะอนุกรรมาธิการฯ นำประเด็นรายงานการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการฯ ฉบับวันที่ 22 ธ.ค. 65 เสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ (คณะใหญ่) เพื่อนำเสนอผลการศึกษาฉบับนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎร และเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป ขณะเดียวกัน ขอให้คณะกรรมาธิการฯ (คณะใหญ่) ส่งสำเนาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มาชี้แจง ตลอดจนภาคประชาสังคมที่ติดตามประเด็นดังกล่าวต่อไป

นายอาดิลัน ยังชี้แจงความเห็นส่วนตัวต่อกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอความเห็นให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ว่า เป็นความวิตกกังวลของผู้ปฏิบัติ เมื่อทราบรายงาน เพราะอุปกรณ์อย่างเช่น กล้องบันทึกภาพติดตัวบุคคล (Body Camera) อันที่จริงมีประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถานีตำรวจก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีประจำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคน รายละเอียดเหล่านี้ยังต้องซักซ้อมทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต่อไป

Related Posts

Send this to a friend