POLITICS

เปิดเอกสาร ตร.ขอเลื่อนเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย

เปิดเอกสารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเลื่อนเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย อ้างเหตุงบประมาณไม่พอ-เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่พร้อม

ภายหลังจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาได้ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 กำหนดผลบังคับใช้ 120 วันนับแต่วันประกาศ คือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566

ทว่า เมื่อช่วงสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมานั้น เกิดกระแสข่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จะขอขยายเวลาบังคับใช้ร่างกฎหมายอุ้มหาย-ซ้อมทรมานดังกล่าวออกไปก่อน

แต่กระแสดังกล่าวได้ซาลงไปครู่หนึ่ง เมื่อ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าว The Reporters ณ อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ยืนยันว่า ตร. ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมดำเนินการตามกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 ตร. ส่งหนังสือเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ผ่าน อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ) เรื่อง ปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 โดยมีพลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นผู้ลงนาม

ใจความสำคัญคือ การระบุถึงการปรับปรุงการดำเนินการ บทบาท และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมในระดับหน่วยปฏิบัติ ซึ่ง ตร. เห็นว่า ก่อให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหลายประการ สรุปปัญหา อุปสรรค และข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนี้

1.ด้านงบประมาณ แม้ที่ผ่านมา ตร. ได้จัดซื้อกล้องบันทึกความเคลื่อนไหวให้กำลังพลในภารกิจอื่น แต่การรองรับการปฏิบัติงาน (Body Camera) ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว พบว่าปริมาณยังไม่เพียงพอ โดยจะต้องจัดซื้ออีก 171,808 ตัว กล้องติดรถยนต์ควบคุมผู้ถูกจับอีก 1,578 ตัว และกล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ 6,244 ตัว โดยจะต้องใช้งบประมาณดำเนินการ 3,473,744,220 บาท

ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับการจัดระบบเก็บข้อมูลอีกด้วย ซึ่งงบประมาณดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในแผนงบประมาณรายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยจะต้องตั้งคำของบประมาณอย่างเร็วที่สุดคืองบประมาณปี พ.ศ. 2567

2.ด้านบุคลากร เจ้าหน้าที่ตำรวจยังขาดความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ เนื่องจากเทคโนโลยีและอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงในปัจจุบันพัฒนาก้าวล้ำไปมาก ผลิตภัณฑ์มีหลายยี่ห้อ วิธีใช้งานแตกต่างกัน จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและสัมฤทธิ์ผลตาม พ.ร.บ.

3.ปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงาน เนื่องจากความไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือในบทกฎหมาย และยังไม่มีระเบียบหรือแนวทางการปฏิบัติอันเป็นมาตรฐานกลาง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมหรือควบคุมยึดถือปฏิบัติ

โดยสรุป ตร. ขอเสนอความเห็นให้ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้บางส่วน เฉพาะในหมวด 3 การป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ออกไปก่อน โดยยกตัวอย่างการขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 เนื่องจากหากมีการใช้บังคับตามกำหนดเวลาเดิมในขณะที่ยังไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติอาจเกิดผลร้ายต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ บทบัญญัติในหมวด 3 ที่ ตร. ขอเสนอขยายเวลาบังคับใช้ออกไปนั้น สาระสำคัญคือ กำหนดกลไกการป้องการทรมานและการอุ้มหาย อาทิ เจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบควบคุมตัว ต้องบันทึกภาพและเสียงขณะจับและควบคุมตัว ต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว และหากผู้ใดที่พบเห็นหรือทราบการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือการอุ้มหาย ก็สามารถไปแจ้งพนักงานอัยการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่า ในหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติฉบับนี้ ไม่ได้ระบุข้อเสนอว่า จะขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปถึงเมื่อใด

Related Posts

Send this to a friend