POLITICS

‘ชินวรณ์’ พร้อมชง ‘ชวน’ นัดวันถก พ.ร.บ.การศึกษาฯ เพิ่ม

‘ชินวรณ์’ พร้อมชง ‘ชวน’ นัดวันถก พ.ร.บ.การศึกษาฯ เพิ่ม ย้ำเป็นกฎหมายสำคัญ สมาชิกควรรับผิดชอบองค์ประชุม

วันนี้ (12 ม.ค. 66) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ณ อาคารรัฐสภา ถึงกรณีที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ คืบหน้าล่าช้า โดยนายชินวรณ์ กล่าวว่า น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็น พ.ร.บ. ที่เสนอตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ ซึ่งทางกรรมาธิการฯ ร่วมระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ได้ศึกษามาเกือบ 2 ปี แต่การประชุมทั้ง 2 วันสมาชิกเกือบไม่ครบองค์ประชุม

นายชินวรณ์ยังระบุด้วยว่า ต้องยอมรับว่าสมาชิกรัฐสภาทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ถึงแม้การแก้ไขในชั้นกรรมาธิการฯ จะมีที่ไม่สมบูรณ์อยู่บ้าง แต่กฎหมายนี้มีความสำคัญ สามารถนำมาแก้ไขรายมาตรากันในที่ประชุมได้

รัฐสภาถูกตำหนิมากเรื่องไม่ครบองค์ประชุม เรื่องนี้จึงขอหารือกันอีกครั้งหนึ่ง พร้อมเสนอประธานรัฐสภานัดหมายการประชุมเพิ่ม เพื่อแก้ไข พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ให้เรียบร้อย อย่างน้อย 9 ประเด็นหลัก จะเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานและประชาชน คือ ประเด็นเรื่องวัตถุประสงค์ของการศึกษาให้สอดรับกับการศึกษาในโลกยุคอนาคตและความเป็นพลเมือง

ทั้งนี้นายชินวรณ์ ยังพูดถึงเป้าหมายที่จัดให้มีการดำเนินการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามช่วงวัย โดยมีสมรรถนะต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ชัดเจน และยังเน้นในเรื่องของสถานศึกษา ที่จะเป็นหน่วยสุดท้ายที่จะพัฒนาคุณภาพให้เป็นนิติบุคคลมีความคล่องตัว

เรื่องของครูผู้สอน ขวัญกำลังใจครูเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ที่จะทำให้ครูได้มีโอกาสที่ก้าวหน้าและเป็นวิชาชีพชั้นสูง

การเปลี่ยนระบบการศึกษา จากในระบบ นอกระบบ และอัธยาศัย เป็นการศึกษาเพื่อคุณวุฒิ เพื่อการมีงานทำและการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งสอดรับกับโลกยุคใหม่ที่จะตอบโจทย์เป้าหมายของการศึกษาต่อไป

นายชินวรณ์ ยังกล่าวเกี่ยวกับแผนการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งได้มีแผนปฏิบัติการมาควบคุมกำกับ เพื่อที่จะให้การเดินหน้าในการทำตามแผนการศึกษาแห่งชาติเกิดขึ้นจริง และยังมีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติที่เป็น Super Board ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการที่จะ มาดูแลในเรื่องของนโยบายการศึกษาทั้งระบบต่อไป

นอกจากนี้คณะกรรมาธิการฯ ยังต่อยอดสองเรื่องสำคัญ คือ กองทุนครูของแผ่นดิน และกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ที่กำหนดให้ กสทช. ให้การสนับสนุน โดยเฉพาะระดับการศึกษาชั้นปฐมวัยจนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้มีการศึกษาในเรื่องของดิจิทัลและเทคโนโลยีต่อไป

Related Posts

Send this to a friend