POLITICS

กกต.พร้อมจัดเลือกตั้ง กทม.-พัทยา ยันยังไม่พบการซื้อเสียง

วันนี้ (11 พ.ค.65) นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความพร้อมการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยาว่า กกต.มีความพร้อมตามแผนงาน สำหรับกรุงเทพมหานคร มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,300,000 คน ซึ่ง กกต.ส่งจดหมายแจ้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.65 ทั้งนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตรวจสอบสิทธิการเลือกตั้ง หรือแจ้งเบาะแสการทุจริตได้ที่แอปพลิเคชันตาสับปะรด และ Smart Vote

ข้อกังวลของ กกต. จะอยู่ที่กลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 44,000 คน ที่ย้ายทะเบียนบ้านจากเขตเก่ายังไม่ถึง 1 ปี ทำให้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ก. ดังนั้นผู้มีสิทธิจึงต้องขอเพิ่มชื่อในเขตเลือกตั้งเดิมภายในวันที่ 11 พ.ค.นี้ หากไม่เพิ่มชื่อจะถือว่ามีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อย่างเดียว กรณีที่เพิ่มชื่อในเขตเลือกตั้งเดิมแล้วไม่ไปใช้สิทธิก็จะถูกจำกัดสิทธิ หรือหากมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ ต้องแจ้งต่อ กกต.ภายใน 7 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง

ทั้งนี้ กกต.ได้เตรียมแผนรับมือไว้ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะแจกบัตรเลือกตั้งใบเดียวให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ถ้ามีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ กทม.จะหนีบกระดาษสีน้ำตาล ส่วนมีสิทธิเลือก ส.ก.จะหนีบกระดาษสีชมพู ทำให้จำนวนบัตรกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ตรงกันน้อยลง

บัตรเลือกตั้งจะมี 2 ใบ โดยบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะใช้สีน้ำตาล บัตรเลือกตั้ง ส.ก.ใช้สีชมพู ส่วนบัตรเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาใช้สีฟ้า และสมาชิกสภาเมืองพัทยาใช้สีส้ม กรณีลงคะแนนให้ผู้สมัครที่เสียชีวิตหรือถูกตัดสิทธิจะถือเป็นบัตรเสีย ส่วนการไปใช้สิทธิผู้ป่วยโควิด-19 เป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยสามารถใช้สิทธิได้ที่คูหาพิเศษ ซึ่ง กกต. และ กทม.จะประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้นในสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ก่อนการวันเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง หรือผู้สมัครมีโอกาสทำผิดกฎหมายพอ ๆ กัน เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า “ผู้ใด” เรียกทรัพย์สิน ใส่ร้าย จูงใจ ใช้อิทธิพล โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะพบการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งน้อยมาก ณ วันนี้มี 2 เรื่อง คือ ป้ายหาเสียง และการหาเสียงทางโซเชียลมิเดีย กกต.ก็มีมาตรการป้องกันการทุจริต เช่น ชุดเคลื่อนที่เร็ว ชุดปฏิบัติการข่าว ผู้ตรวจการเลือกตั้ง และชุดประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนวันเลือกตั้ง ห้ามผู้สมัครคนใดหาเสียงในเวลา 18.00 น.ก่อนการเลือกตั้งจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง ห้ามจำหน่ายจ่ายแจกสุรา ห้ามผู้ใช้สิทธิฉีกบัตรเลือกตั้ง และถ่ายรูปกับบัตรเลือกตั้ง ขอให้ระมัดระวังเพราะมีโทษทางอาญา ขณะที่ประเด็นการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง กทม. ยังไม่มีปัญหาน่าหนักใจ เพราะเป็นการเมืองใหญ่ แข่งขันกันเสนอนโยบาย และทำความดี

นายแสวง ตั้งเป้าว่าการเลือกตั้ง กทม.จะมีผู้มาใช้สิทธิ 70% เนื่องจากคน กทม.ไม่ได้เลือกตั้งมานานกว่า 9 ปี และการแข่งขันที่เข้มข้นสูสี ส่งผลให้ผู้สนับสนุนหรือกองเชียร์ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น พร้อมย้ำว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะไม่มีการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ (Rapid Report) เหมือนการเลือกตั้งระดับชาติ โดยคาดว่าจะทราบคะแนนอย่างไม่เป็นทางการไม่เกิน 22.00 น.ของวันเลือกตั้ง และจะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการภายใน 30 วัน หากมีเรื่องร้องเรียนจะประกาศภายใน 60 วัน

“พี่น้องชาว กทม.รอมานาน อยากเห็น กทม.เป็นอย่างไรก็อยู่ในมือท่าน อยากเชิญชวนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขต กทม. และเมืองพัทยาออกมาใช้สิทธิในวันที่ 22 พ.ค.นี้อย่างล้นหลาม”

Related Posts

Send this to a friend