เริ่มแล้ว! สภาฯ ถก พ.ร.บ. อากาศสะอาด 7 ร่าง
รัฐบาล – ฝ่ายค้าน – ภาคประชาชน มอง เป็นปัญหาเรื้อรัง ต้องแก้ไขด่วน หวั่นกระทบประชาชนมากขึ้น
วันนี้ (11 ม.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฏรคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ โดยมีผู้เสนอคือ คณะรัฐมนตรี, นางสาวคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยมและประชาชน, นายอนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) พรรคภูมิใจไทย, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) พรรคเพื่อไทย , นางสาวตรีนุช เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) พรรคพลังประชารัฐ, นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) พรรคประชาธิปัตย์ และนายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) พรรคก้าวไกล
พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในนามคณะรัฐมนตรีขอเสนอร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ… เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณารับหลักการโดยมีหลักการและเหตุผลดังนี้ ให้มีกฎหมายจัดการอากาศสะอาดโดยปัญหามลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นและฝุ่น PM 2.5 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงต้นปี และปลายปี ของทุกปี จึงต้องมีคนไกลในการจัดการ ทั้งในระดับชาติ ระดับพื้นที่ กำหนดให้มีการพัฒนา และบูรณาการปัญหาทุกภาคส่วน และให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน กำหนดแผนการดำเนินการ บอกสาเหตุ ป้องกันการปลดปล่อยฝุ่นควันเข้าสู่สิ่งแวดล้อมในชั้นบรรยากาศ พัฒนาระบบประเมินคุณภาพอากาศ การเฝ้าระวัง การเตือนภัย และการจัดการในสถานการณ์วิกฤติ พัฒนาองค์ความรู้การจัดการปัญหาเรื่องนี้ เพื่อให้อากาศส่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีมีความปลอดภัยต่อสุขภาพ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน
นางสาวคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอาการสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ….. กล่าวว่า ต้องการให้คนมาดูแลผู้ใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ รวมถึงอาจเพิ่มเติมหน้าที่ใหม่ ต้องทำเพื่อสุขภาพด้วย ถือเป็นเหตุผลหลัก ตามคำของ WHO ที่ระบุว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นสาเหตุของการตายก่อนวัยอันควร โดยจะมีคำว่าบูรณาการอยู่ด้วย ซึ่งจะแก้ปัญหาร่วมกันทั้งในเรื่องสิทธิการได้รับอากาศสะอาด สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ผ่านมามีการแก้ไขปัญหายังไม่มากพอ อาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดทางกฎหมาย โดยในร่าง พ.ร.บ. ฉบับประชาชนได้เสนอ 3 ระดับคือ ระดับนโยบาย ระดับการดูแล ระดับปฏิบัติการ พร้อมเสนอให้มีกองทุนอากาศสะอาด เพื่อช่วยเหลืออุดหนุนการแก้ปัญหา
นายอลงกต มณีกาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) พรรคภูมิใจไทย ตัวแทนนายอนุทิน ชาญวีรกูล ผู้เสนอร่างของพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นควัน ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตทุกชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเวลาติดต่อกันมาหลาย 10 ปีแล้ว และพบว่าแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้น ครอบคลุมทุกพื้นที่ ขณะเดียวกันประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทั้งงบประมาณในการรักษาพยาบาลและความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของประเทศที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการ รวมไปถึงยังมีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศด้วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการปฏิรูประบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะมีสิทธิ์ที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี
ด้านนายชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร พรรคพลังประชารัฐ ตัวแทนนางสาวตรีนุช เทียนทอง ผู้เสนอร่างของพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า วันนี้อากาศเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตมนุษย์และปรากฏการณ์ในประเทศไทยนั้น PM 2.5 เป็นเรื่องที่เล่าขานกันมานาน และหลายรัฐบาลพยายามแก้ไข เนื่องจากกระทบต่อคนไทยทั้งแผ่นดิน วันนี้พีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐานเป็นภัยคุกคามสุขภาพของพี่น้องประชาชน ซึ่งจะเกี่ยวโยงไปอีกหลายเรื่องทั้งค่ารักษาพยาบาลและโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยความเป็นห่วงพี่น้องประชาชน พรรคพลังประชารัฐจึงได้รวบรวมรายชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. บนแนวคิดที่ว่าคนไทยควรจะได้รับอากาศบริสุทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อต่ออายุให้ยืนยาว วันนี้มีร่างกฏหมายเข้ามา 7 ร่าง แสดงว่าทุกคนเห็นตรงกัน และกฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายที่แสดงถึงความปรองดอง ไม่ได้เรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ได้เลือกสีเสื้อ แต่เลือกที่จะยืนอยู่ข้างประชาชน
“นี่คือความเป็นห่วงของพรรคพลังประชารัฐ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายที่ก้าวข้ามความขัดแย้ง … กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มุ่งผลประโยชน์ทางการเมือง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเสนอกฎหมายฉบับนี้จะได้รับความร่วมมือจากพี่น้องในสภาทั้ง 500 ชีวิต เพื่อให้ประชาชนทั้งแผ่นดินได้รับอากาศบริสุทธิ์ พรรคพลังประชารัฐขอเป็นส่วนหนึ่งในการหยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้กับประชาชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องในสภาแห่งนี้ จะร่วมกันที่จะขัดเกลากฎหมายฉบับนี้ ตรงไหนไม่ถูกเอาปากกามาวง แล้วแก้ไข ตรงไหนที่ยังเป็นช่องว่างที่ยังไม่ครบถ้วนก็เติมลงไปให้มันเต็ม” นายชัยมงคล
ส่วนนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลักการและเหตุผลร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตนเองต้องขอบคุณคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีได้ใส่ใจในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และได้ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อรับฟังปัญหา หารือกับผู้นำประเทศต่างๆ เพื่อให้มีการตระหนักถึงปัญหาในระดับภูมิภาค
“ด้วยกลไกทางกฎหมายที่จะมีขึ้น ประกอบกับความตั้งใจจริงของรัฐบาลชุดปัจจุบัน สมาชิกทุกท่าน ภาคประชาชน ทำงานร่วมกับพวกผมมาอย่างยาวนาน ผมยืนยันกับท่านถึงความจรืงใจของพวกเราในการแก้ปัญหา” นายจุลพันธ์ กล่าว
ด้านนายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล กล่าวว่าหลักการและเหตุของร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และมีคณะกรรมการกำกับตรวจสอบฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามแดน ซึ่งมีภาคประชาชนมามีส่วนร่วม
“ในระดับจังหวัด พรรคก้าวไกลมีจุดที่แตกต่างจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิง คือเราให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้ง ที่อยู่ในพื้นที่ ที่เรามั่นใจว่าจะสามารถทำงานแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างน้อย 4 ปี ไม่ใช่มาปีสองปีแล้วก็ไป มาเป็นหัวเรือในการขับเคลื่อนการแก้ไขระดับจังหวัดตรงนี้” นายภัทรพงษ์ กล่าว