รัฐธรรมนูญ หมายความถึง กฎหมายขั้นมูลฐานของรัฐ ซึ่งกล่าวถึงกฎเกณฑ์ที่จัดวางระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครอง เป็นกฎหมายที่อยู่ในฐานะสูงกว่ากฎหมายอื่น ๆ ทั้งปวง ซึ่งกฎหมายอื่น ๆ จะมีวิธีการจัดทำหรือมีข้อความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่กำหนดถึงกฎเกณฑ์การปกครองทางด้านการเมืองอย่างกว้าง ๆ กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดรูปบริหารในทางการเมืองของรัฐหรือประเทศ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นับตั้งแต่ที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2575 และมีการประกาศใช้ พรบ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว (รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว) ครั้งแรกในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 จากนั้นจึงมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และประกาศใช้อีกครั้งเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมของปีเดียวกัน
นับจากปี 2475 เป็นเวลา 88 ปีแล้ว ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 20 ฉบับ ดังนี้
ฉบับที่ 1 พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
ฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
ฉบับที่ 3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
ฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
ฉบับที่ 5 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
ฉบับที่ 6 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495
ฉบับที่ 7 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
ฉบับที่ 8 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
ฉบับที่ 9 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
ฉบับที่ 10 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
ฉบับที่ 11 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
ฉบับที่ 12 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
ฉบับที่ 13 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
ฉบับที่ 14 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534
ฉบับที่ 15 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
ฉบับที่ 16 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
ฉบับที่ 17 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
ฉบับที่ 18 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
ฉบับที่ 19 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
ฉบับที่ 20 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2563 กระแสการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เริ่มก่อตัวและพัฒนามากขึ้นจากขบวนการเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ผ่านการทำกิจกรรมชุมนุมตามท้องถนน การเดินขบวน การยื่นหนังสือ และขบวนการอื่นๆ มาเป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว แม้การทำกิจกรรมดังกล่าวทำให้รัฐสภาได้เปิดประชุมเพื่อพิจารณารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ร่างที่ประชาชนกว่า 100,732 คนเข้าชื่อเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นถูกตีตกไป ผ่านเพียงร่างของพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ยังมีรายละเอียดบางอย่างไม่ตรงตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กำลังเป็นข้อถกเถียงกันในสังคม มีที่มาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ในยุคคสช. ปี 2558 มีการลงประชามติจากประชาชนในปี 2559 ที่ยังสร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่คนรุ่นใหม่ ด้วยประชามติในครั้งนั้นมีการจับกุมดำเนินคดีผู้ทำกิจกรรมรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีการคุมขังในเรือนจำ และหลายคนต้องขึ้นศาลทหาร!
จนกระทั่งมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ด้วยคำถาม 2 คำถามในการทำประชามติ คือการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ และการรับคำถามพ่วงบทเฉพาะกาล ว่าด้วยการให้อำนาจรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี ความว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
ส่งผลให้สมาชิกวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลนี้มีวาระ 5 ปี และมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตนเองว่า “กลุ่มราษฎร” ชี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาโดยไม่ชอบธรรม และการให้อำนาจส.ว. นั้นทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจของคสช.
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กลุ่มราษฎรต้องการ ต้องมาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้แนวความคิด 5 ยกเลิก 5 แก้ไข คือ
-ยกเลิกช่องทางนายกคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
-ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
-ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศ
-ยกเลิกท้องถิ่นพิเศษที่เปิดช่องให้ผู้บริหารไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง
-ยกเลิกมาตรา 279 นิรโทษกรรม คสช.
-แก้ไขระบบบัญชีว่าที่นายกฯ นายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส.
-แก้ไขให้ส.ว.มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
-แก้ไขที่มาขององค์กรอิสระ สร้างระบบสรรหาใหม่
-แก้ไขปลดล็อควิธีการแก้รัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น
-แก้ไข ตั้งสสร.ชุดใหม่จากการเลือกตั้งทั้งหมด จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ นำไปสู่การเลิกใช้รัฐธรรมนูญปี 2560
การชุมนุมภายใต้ข้อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกยกระดับเรียกร้องด้วยกลวิธีและปริมาณผู้คนที่พัฒนาอยู่เรื่อยๆ
โดยเฉพาะเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผู้ชุมนุมย้ำว่า “จะแก้ไขให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายของประเทศไทย” จะเป็นได้จริงหรือไม่ ที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 พ.ศ. ……. เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายของราชอาณาจักรไทยหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
Send this to a friend