POLITICS

สอบ. ยื่นฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนมติ กสทช. กรณีควบรวมทรู – ดีแทค

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ยื่นฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนมติ กสทช. กรณีควบรวมทรู – ดีแทค ขอไต่สวนฉุกเฉิน-คุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยมีประชาชนร่วมสนับสนุนกว่า 2,022 รายชื่อ

วันนี้ (10 พ.ย. 65) สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักงาน กสทช. เป็นผู้ ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้เพิกถอนมติ กสทช. “รับทราบ” การรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค รวมทั้งได้ยื่นคำขอไต่สวนฉุกเฉิน และขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคได้นำรายชื่อผู้บริโภคจำนวน 2,022 ราย ที่ร่วมรณรงค์คัดค้านและสนับสนุนการฟ้องคดีดังกล่าวยื่นต่อศาลปกครองด้วย

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า จากที่บริษัทได้ยื่นรายงานเพื่อขออนุญาตควบรวมตั้งแต่ 25 ม.ค. 65 เป็นต้นมา ขณะที่ กรรมการ กสทช.ได้ลงมติเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 65 ว่าเป็นการรับทราบว่าจะมีการควบรวม เป็นกระบวนการลงมติฯ ที่มิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก ก่อนมีการลงมติฯ กสทช. ไม่ได้ดำเนินการ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการก่อนกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ ทั้งที่มติดังกล่าวกระทบ กับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีจำนวนมากกว่า 118 ล้านเลขหมาย โดยเฉพาะผู้ใช้บริการของทรูและ ดีแทคที่มีจำนวนสูงถึง 60 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ใช้บริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด และก่อนการลงมติคณะกรรมการ กสทช. ยังไม่ได้ดำเนินการรับฟังรายงานฉบับ สมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศที่ทางสำนักงานฯ ได้ว่าจ้าง

อีกทั้ง ในการลงมติฯ ประธานได้ออกเสียงชี้ขาด ซึ่งขัดต่อระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจาย เสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2555

นอกจากนี้ เนื้อหาของมติดังกล่าวก็มิชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน โดยขัดต่อข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ในกิจการโทรคมนาคม และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 ประกอบข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิด ความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ที่ระบุถึงอำนาจของคณะกรรมการ กสทช. ไว้อย่างชัดแจ้ง

โดยในการลงมติจะต้องเป็นการอนุญาต หรือไม่อนุญาตเท่านั้น การที่มติของ กสทช. เพียง “รับทราบ” จึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งมาตรการและเงื่อนไขดังที่ กสทช. กำหนด ยังคงได้รับข้อท้วงติง จากนักเศรษฐศาสตร์ทั้งก่อนและหลังการมีมติ ว่าไม่สามารถแก้ไขหรือลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้โดยยังขาดการ กำหนดมาตรการและเงื่อนไขที่เข้มข้นในเชิงโครงสร้างและยังคงต้องเพิ่มประสิทธิภาพของการกำกับเชิงพฤติกรรม

จากพฤติการณ์ของ กสทช. ดังกล่าวข้างต้น อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่คุ้มครอง ประโยชน์สาธารณะและดำเนินการให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่ถือได้ว่าขัด ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 60 และขัดต่อพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 รวมถึงขัดต่อ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ตลอดจนไม่เป็นไปตามแผนแม่บทกิจการ โทรคมนาคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2562 – 2566)

ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงได้ยื่นคำขอไต่สวนฉุกเฉิน และขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำ พิพากษา เพื่อขอให้ศาลโปรดมีคำสั่ง ดังนี้

  1. ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ใน การประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ทั้งหมด โดยให้ผลแห่งการทุเลาคำสั่ง มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2565
  2. ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งห้ามหรือระงับการกระทำและนิติกรรมที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องมติ รับทราบการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ทั้งหมดจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
  3. ขอให้ศาลมีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดำเนินการชะลอหรือระงับการรับซื้อ หุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นที่คัดค้านการควบบริษัทระหว่างทรูและดีแทคไว้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
  4. ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ชะลอหรือระงับการรับจดทะเบียนและการดำเนินการควบรวมบริษัททรูและดีแทคไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

Related Posts

Send this to a friend