POLITICS

เตือนประชาชนเฝ้าระวังน้ำล้นอ่างเก็บน้ำ น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง 12-18 ตุลาคม นี้

รัฐบาล เตือนประชาชนเฝ้าระวังน้ำล้นอ่างเก็บน้ำ น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ช่วง 12-18 ตุลาคม นี้

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตือนประชาชนเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยง และน้ำล้นตลิ่ง เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีปริมาณฝนตกหนักสะสม ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติคาดการณ์จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นอีกในช่วงวันที่ 9–12 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้น้ำหลากลงสู่ลุ่มน้ำและอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น จึงขอให้เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 12-18 ตุลาคม 2566 โดยพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง ประกอบด้วย

1.อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และแม่มอก จ.ลำปาง อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี อ่างเก็บน้ำน้ำพุง และหนองหาร จ.สกลนคร อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อ่างเก็บน้ำลำปาว จ.กาฬสินธุ์ อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จ.นครนายก

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ คาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และมีแนวโน้มปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80

2.พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ได้แก่

2.1 แม่น้ำยม บริเวณ อ.ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง เมืองสุโขทัย และกงไกรลาศ จ.สุโขทัย อ.พรหมพิราม และบางระกำ จ.พิษณุโลก อ.สามง่าม และโพทะเล จ.พิจิตร

2.2 แม่น้ำมูล บริเวณสถานี M.7 อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี คาดการณ์ว่าระดับน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ +113.00 ถึง +113.50 เมตร ระดับทะเลปานกลางสูงกว่าตลิ่ง 1.00 – 1.50 เมตร ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณอ.เมือง วารินชำราบ พิบูลมังสาหาร ดอนมดแดง ตระการพืชผล และม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี

2.3 แม่น้ำยัง บริเวณสถานี E.92 อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด คาดการณ์ว่าระดับจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สูงกว่าตลิ่ง 1.00 – 1.50 เมตร ในวันที่ 10-11 ตุลาคม 2566 ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณ อ.เสลภูมิ และโพนทอง จ.ร้อยเอ็ด และลดลงต่ำกว่าตลิ่ง ในวันที่ 13-14 ตุลาคม 2566

“นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรองเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที” นายคารม กล่าว

Related Posts

Send this to a friend