POLITICS กลุ่ม ‘เพื่อนต่อต้านเผด็จการ’ FAD ออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับการรัฐประหาร-ประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมในเมียนมา วันนี้ (10 ก.พ. 64) นักกิจกรรม นักพัฒนาสังคม สื่อมวลชน ทนายความ และนักวิชาการ รวมตัวกันในนาม กลุ่ม “เพื่อนต่อต้านเผด็จการ” (Friends Against Dictatorship: FAD) ออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับการรัฐประหารและประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมในพม่า ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ หนึ่งในคณะกรรมการกลุ่มฯ ระบุว่า “การประท้วงตอนนี้กระจายไปทั่วประเทศ เราคิดว่า ฝ่ายทหารจะเพิ่มมาตรการในการหยุดยั้งการประท้วง เพราะที่ผ่านมาแม้มีการประกาศเคอร์ฟิว การใช้รถฉีดน้ำ หรือแม้กระทั่งการใช้อาวุธไม่ได้เป็นผลเลย ประชาชนหลายภาคส่วนเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงคาดว่าฝ่ายทหารจะใช้ความุรนแรงเพิ่มมากขึ้นซึ่งเราไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น” “นักวิเคราะห์ต่างชาติบางท่านใช้คำว่า นี่คือ การปฏิวัติ ไม่ใช่การประท้วง แต่เป็นการปฏิวัติอีกรูปแบบหนึ่ง ผู้ประท้วงมีทั้งชาวบ้านทุกรุ่นอายุตั้งแต่ 70-80 จนถึงรุ่นหนุ่มสาว ที่สำคัญคือ การมีข้าราชการ ครู อาจารย์มหาวิทยาลัย หมอ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ศุลกากรก็ออกมาร่วมการประท้วงอย่างสันติอหิงสา ในขณะที่มีข้าราชการจำนวนมากประกาศลาออก นี่เป็นการประท้วงที่แตกต่างไปจากคราวก่อนๆ รวมถึงต่างไปจากในประเทศไทย ส่วนกลุ่มกองกำลังมีการออกมาประท้วงการยึดอำนาจเช่นกัน แต่ยังไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วม คงต้องจับตามองกันต่อไป” ดร.ชยันต์ กล่าว ด้าน อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ชี้ว่า พม่าก็คล้ายไทย ทหารเป็นใหญ่ เป็นรัฐภายในรัฐ เมื่อมีว่ามีแนวโน้มจะสูญเสียอำนาจ หรือควบคุมอำนาจรัฐไม่ได้ก็ทำรัฐประหาร พร้อมทั้งชี้ว่า ยังยากที่จะเชื่อว่าทหารจะจัดให้มีการเลือกตั้งในเร็ววันตามที่ประกาศ เพราะมีบทเรียนแล้วว่า พ่ายแพ้อย่างราบคาบ หากทหารยังไม่มั่นใจว่าจะชนะ การเลือกตั้งจะยังไม่เกิดขึ้น ด้านแถลงการณ์ดังกล่าว ระบุว่า “กลุ่มเพื่อนต่อต้านเผด็จการ” (Friends Against Dictatorship: FAD) ขอประกาศไม่ยอมรับการรัฐประหารและผลพวงของการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมา ขอเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาหยุดการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย และขอให้ปล่อยตัวทุกคนที่ถูกควบคุมตัวและถูกจับกุมทันที รวมทั้งกองทัพต้องเคารพเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน เคารพหลักนิติธรรม ยอมรับผลการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2563 ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศกฎอัยการศึก และการประกาศเคอร์ฟิว นำประเทศกลับเข้าสู่เส้นทางการพัฒนาประชาธิปไตย ใช้กระบวนการระบบรัฐสภาและกฎหมายปกติในการแก้ปัญหา” นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้กลุ่มอาเซียนและประชาคมโลกร่วมประณามเผด็จการทหารโดยกองทัพเมียนมา ต้องไม่รับรองการรัฐประหารในครั้งนี้ รัฐประหารไม่ว่าที่ไหนเป็นความเลวร้าย เพราะเขาเชื่อในความรุนแรง ในขณะที่ ฝ่ายประชาธิปไตยจะรักสันติ อหิงสา น่าเสียดายที่พม่ากลับมาเป็นเผด็จการอีกแล้ว อ.สุลักษณ์ โดยก่อนหน้านี้ (9 กุมภาพันธ์) กลุ่มแรงงานเพื่อนบ้านชาวทวายในประเทศไทย ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ ต่อต้านการรัฐประหาร และแสดงจุดยืนที่จะเข้าร่วม การชุมนุมอย่างสันติวิธี แสดงอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement) เหมือนกับพี่น้องประชาชนในประเทศเมียนมา นายมิน แลต ผู้ประสานงานกลุ่มกล่าวว่า เราจะแสดงออกถึงการไม่ยอมรับการกระทำนี้อย่างสงบ สันติ ที่ผ่านมาเรามีการรวมตัวกันจุดเทียน ร้องเพลง สวดมนต์ ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด อย่างต่อเนื่อง โดยจะทำกันในช่วงเย็นถึงค่ำ หลังเลิกงาน “ตอนนี้ความรู้สึกของเราดีขึ้นหน่อย แต่วันที่มีการตัดการสื่อสาร แรงงานไม่สามารถติดต่อที่บ้านได้ ก็เป็นห่วงอย่างมาก เรากำลังคุยกันว่านอกจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เราจะช่วยอะไรได้อีกบ้าง เช่น การระดมทุนช่วยเหลือ หรือการช่วยสื่อสารเอาความจริงจากบ้านออกมาให้มากที่สุด” นายมิน แลต กล่าว Tags: FAD รัฐประหาร เพื่อนต่อต้านเผด็จการ แถลงการณ์ แนะแนวเรื่อง Previous Previous post: ทำเนียบรัฐบาล ประดับโคมเต็งลั้ง เนื่องในเทศกาลตรุษจีนNext Next post: ชาวเมียนมา ร่วมชุมนุมหน้าหอศิลป์ ต้านรัฐประหารเรียกร้องทุกชาติพันธุ์ รวมเป็นหนึ่งเดียว เพื่อประชาธิปไตย Related Posts ‘ภคมน’ สวนรัฐบาล อย่าสาดวาทกรรม “ก้าวไกล” ไม่เห็นความสำคัญภาคใต้ เป็นไปด้วยดี! ‘โรม’ เผย หลังพา กมธ.ความมั่นคงฯ เข้าหารือ ผบ.ตร. “อนุดิษฐ์” ชี้ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ตีแผ่ความมืดดำของระบอบ คสช.