POLITICS

‘มายด์’ ยื่นหนังสืออัยการศาลสูง ขออย่าอุทธรณ์ คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง หลังศาลแขวงดุสิตยกฟ้อง

‘มายด์ ภัสราวลี’ ยื่นหนังสือถึงอัยการศาลสูง ขอให้ไม่ยื่นอุทธรณ์ คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง หลังศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษายกฟ้อง หวังอัยการจะคำนึงถึงความเป็นธรรม และอยู่เคียงข้างประชาชน

วันนี้ (10 ม.ค. 65) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ พร้อมด้วย นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ นายกรกช แสงเย็นพันธ์ หรือ ปอ DRG นักกิจกรรมทางการเมือง และประชาชน ที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 รวมทั้งประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 63 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมข้อ 1

เนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 บริเวณอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งที่ทำเนียบรัฐบาล ได้เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือต่ออัยการศาลสูงสุด เพื่อให้อัยการยุติคดีโดยไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแขวงดุสิต เนื่องจากศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษายกฟ้อง น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ไปแล้ว

สำหรับกรณีนี้เกิดจาก ศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” จำเลย ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง เนื่องจาก ตามข้อกล่าวหาของโจทก์ ที่ว่าจำเลยมีพฤติการณ์ร่วมก่อความรุนแรง คือ มีการฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น ในทางนำสืบพบว่า จำเลยอยู่ที่อนุสาวรีย์ชัย และบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธหรือได้กระทำความรุนแรงใด กรณีมีการฝ่าแนวกั้นตำรวจนั้น ก็ไม่มีพยานหลักฐานปรากฏว่าจำเลยได้อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ หรือมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ฝ่าแนวกั้นดังกล่าว พฤติการณ์ของจำเลยจึงยังไม่ได้กระทำความรุนแรงตามโจทก์ฟ้อง และยืนยันว่าการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิอันได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวไม่เข้าข่ายการมั่วสุม จึงยกฟ้อง

มายด์ ภัสราวลี กล่าวว่า ที่มายื่นหนังสือในวันนี้ เนื่องจากศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษาว่ายกฟ้องโดยศาลเห็นว่าการชุมนุมในวันนั้นเป็นการได้รับความคุ้มครองในการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นอยากให้อัยการยุติคดีนี้โดยการไม่อุทธรณ์ ในคดีอื่นของคนที่ยังไม่มีคำพิพากษา หรือสิ้นสุดการพิจารณาคดีก็อยากให้ถอนฟ้อง และคนที่ยังอัยการไม่สั่งฟ้องก็ขอให้อัยการไม่สั่งฟ้อง เนื่องจากการเพิ่มคดี ถือเป็นการเพิ่มความยากลำบากให้กับประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ และเพิ่มความยากลำบากให้ระบบยุติธรรมด้วย วันนี้ตนจึงได้มายื่นหนังสือนี้ให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว

มายด์ ภัสราวลี กล่าวต่อว่า ในส่วนของการรับหนังสือในวันนี้จะมีการส่งต่อให้อธิบดีอัยการศาลสูงเป็นคนพิจารณาต่อไป ทางเรายืนยันอย่าหนักแน่นให้อัยการคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชน คือการยุติคดีนี้โดยการไม่ยื่นอุทธรณ์ ถ้าหากคดีนี้ยังดำเนินต่อไปก็จะเป็นการตอกย้ำความอยุติธรรมในสังคม เพราะฉะนั้นประชาชนอย่างเรามีสิทธิเสรีภาพในการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ออกมาเรียกร้องสิ่งที่จะดีกว่านี้ในสังคมไทย เพราะฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ควรพรากความยุติธรรมไปกับประชาชน จึงอยากให้อัยการเป็นหน่วยงานที่คืนความเป็นธรรมให้กับประชาชน

“…หลังจากนี้หวังว่าทางอัยการจะรับพิจารณาตามข้อเรียกร้องนี้และจะคำนึงถึงความเป็นธรรมที่ควรจะต้องเกิดขึ้นและรวมถึงคดีอื่นๆด้วยที่เป็นการชุมนุมใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยเพราะว่าถ้าหากเราพูดว่าประเทศเป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นประชาชนจะต้องสามารถออกมาพูดได้และออกมาแสดงความคิดเห็นได้ ไม่ควรจะถูกสกัดกั้นด้วยการถูกดำเนินคดีความ เพราะฉะนั้นอัยการจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะยุติวงจรนี้ และให้กระบวนการยุติธรรมอยู่กับประชาชนเป็นหลัก…” มายด์ ภัสราวลี กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend