กต.แจงแผนรับตัวประกัน คาดปล่อยตัวทางอียิปต์
กต. แจงแผนรับตัวประกัน คาดปล่อยตัวทางอียิปต์ เตรียมเดินหน้าค้นหาผู้สูญหาย พร้อมส่งเจ้าหน้าที่หนุนสถานทูตฯ ป้องกันคนไทยตกหล่นในอิสราเอล หลังอพยพรอบแรกสำเร็จ
วันนี้ (9 พ.ย. 66) นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และ นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ กระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับสถานการณ์ในอิสราเอล-กาซา
กระทรวงการต่างประเทศดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 66 โดยทางกรมการกงสุลถือเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการดำเนินงานในเรื่องนี้โดยตลอด ซึ่งมีการประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉิน (Rapid Response Center: RCC) ซึ่งมีนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ รายงานผลกระทบต่อคนไทยในขณะนี้พบว่า เสียชีวิต 34 ราย บาดเจ็บอยู่ระหว่างการเข้ารักษาพยาบาล 4 ราย ถูกจับกุมเป็นตัวประกัน 25 ราย ส่งร่างกลับมาไทย 34 ร่าง ซึ่งครบถึงไทยในเที่ยวบินสุดท้ายช่วงเที่ยงของวันนี้
ภาครัฐอพยพคนไทยมาแล้ว 7,470 ราย ด้วย 35 เที่ยวบิน ขณะที่คนไทยเดินกลับเองกว่า 800 ราย โดยได้รับการชดเชยทั้งค่าเดินทางมายังที่พักพิงและค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน รวมผู้เดินทางกลับไทยแล้วราว 8,500 ราย ถือได้ว่ารัฐบาลได้ประสบความสำเร็จในภารกิจระยะแรก ในการนำคนไทยที่มีการแสดงความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว
ส่วนคนไทยที่ยังอยู่ที่อิสราเอล นางกาญจนา คาดว่า พิจารณาแล้วว่าอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งมีคนไทยเหลืออยู่กว่า 20,000 คน ทั้งนี้ แม้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ จะปิดศูนย์พักพิงในโรงแรมเดวิด อินเตอร์คอนติเนนตัลไปแล้ว และย้ายศูนย์ปฏิบัติการกลับมาในสถานเอกอัครราชทูต แต่ยังมีการรับช่วยเหลือพี่น้องคนไทย ซึ่งสามารถติดต่อมาได้เสมอ โดยหลังปิดศูนย์พักพิงฯ มีคนไทยขอรับการช่วยเหลือเพื่อขอเดินทางกับประเทศไทย อีกประมาณ 32 คน และมีผู้ขอติดต่อรับคำแนะนำผ่านทางเฟสบุ๊ก 86 คน
สำหรับขั้นตอนการปล่อยตัวประกันนั้น นางกาญจนา ชี้แจงว่า หากมีการปล่อยตัวประกัน เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประสานงานกับทางการอิสราเอลไว้แล้ว ขั้นตอนตามที่เคยปฏิบัติมา ประกอบด้วย การรับตัวโดยเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross: ICRC) จากนั้น จะมอบตัวให้กับทางการอิสราเอล และมีการตรวจสุขภาพ เพื่อให้แน่ใจว่ามีร่างกายที่ดี จากนั้น จะมีการติดต่อของสถานเอกอัครราชทูตของตัวประกันนั้น ๆ ซึ่งไม่ได้มีแค่เฉพาะคนไทย ซึ่งถือเป็นคนแนวทางปกติที่ตั้งไว้ในการรับตัวประกัน
ผู้สื่อข่าวยังสอบถามถึงสัญญาณจากรัฐบาลอียิปต์ในการอนุญาตให้ทางการไทยเข้าถึงจุดผ่านแดนราฟาห์ ในการรับตัวประกนคนไทย นายรุจ ตอบว่า เอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร มีการประสานทางอียิปต์ เกี่ยวกับจุดผ่านแดนราฟาห์ไว้ เพราะเป็นเส้นทางจะให้สิ่งของบรรทุกสิ่งของเข้าไปช่วยเหลือในฉนวนกาซา ซึ่งไทยได้มีการบริจาคอาหารเครื่องนุ่งห่มผ่านช่องทางนี้เช่นกัน ดังนั้น ในส่วนของตัวประกันอาจจะเป็นช่องทางนี้ในการปล่อยตัว โดยอาศัยช่องทางสถานเอกอัครราชทูต ในพื้นที่ตะวันออกกลาง องค์การสหประชาชาติ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ สภาเสี้ยววงเดือนแดง ฯลฯ ให้มีการปล่อยคนไทยออกมา ซึ่งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทยก็มีการหารือกับผู้นำหลายประเทศเช่นเดียวกัน
สำหรับการรายงานคนไทยสูญหาย นายรุจ ตอบว่า มี โดยขณะนี้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ อยู่ระหว่างการตรวจสอบผู้สูญหาย ตามรายชื่อผู้อพยพกลับ และรายชื่อที่ยังติดต่อไม่ได้ โดยการประสานกับสำนักงานแรงงาน ณ กรุงเทลอาวีฟ ซึ่งมีรายชื่ออยู่แล้วกับบริษัทจัดหางาน และทราบว่าแรงงานไทยอยู่จุดไหน โดยสถานเอกอัครราชทูตหารืออย่างใกล้ชิดและตรวจสอบว่า แรงงานไทยยังอยู่ที่เดิมหรือไม่ หรือมีการอพยพไปอยู่ที่อื่น แต่ขณะนี้ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุจำนวนได้
นางกาญจนา ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า หากญาติที่มีแรงงานไทยทำงานที่อิสราเอล แล้วยังไม่ได้รับการติดต่อจากแรงงานไทยในอิสราเอลตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 66 สามารถแจ้งมาได้ที่กรมการกงสุล หรือสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เพื่อรวบรวมข้อมูลและติดตามต่อไป ที่ผ่านมาเป็นภารกิจจากการโยกย้ายคนในพื้นที่ไม่ปลอดภัยมาสู่พื้นที่ปลอดภัย และอพยพคนที่ประสงค์จะกลับประเทศไทย
นางกาญจนา ระบุว่า ช่วงนี้สถานการณ์เฉพาะหน้าได้ลดน้อยลงไป จึงจะมาสู่ในช่วงของการติดตามว่ามีใครที่สูญหาย หรือพลัดหลง เพื่อจะหาข้อมูลหาอัตลักษณ์จากทางประเทศไทยไปประกอบกับทางอิสราเอลให้ชัดเจนว่ามีการสูญหายหรือไม่ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ ประกาศรับสมัครเจ้าหน้าที่กระทรวงส่งไปสนับสนุนภารกิจสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ อีกครั้งในวันที่ 13 พ.ย. 66 เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีคนไทยที่ประสงค์อพยพกลับตกหล่นแล้ว