POLITICS

‘ศิริกัญญา’ แนะ รัฐบาล ขยายเพดานหนี้สาธารณะ ได้ แต่อย่ากู้มาแจกแบบสะเปะสะปะ

วันนี้ (9 เม.ย. 68) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 30 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ในการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา แนวทางการเจรจา และมาตรการบรรเทาผลกระทบ โดยมี นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นผู้แถลงเหตุผลในการเสนอญัตติด่วน ว่า การที่สหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีไทยกว่า 36% ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ซึ่งผลกระทบต่อไทยนั้นมีความกว้าง ลึก และยาวนาน เนื่องจากเป็นการขึ้นกำแพงภาษีสูงที่สุดในรอบกว่า 100 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1909 รุนแรงกว่ายุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงปี 1930 ที่เกิดจากการขึ้นภาษีตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศจนกระทบทั่วโลก และวันนี้ไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์เช่นนั้นอีกครั้ง

นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบด้านอื่นๆ อีก เนื่องจากการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะจีนที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีอย่างหนักถึง 104% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ (10 เม.ย.) เมื่อตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ไม่สามารถส่งออกได้แล้ว จะเกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น และสินค้าราคาถูกจะไหลเข้าสู่ไทยในฐานะตลาดใหม่ เศรษฐกิจโลกน่าจะชะลอตัวอย่างรุนแรงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอีกระลอก ทั้งการส่งออกที่ลดลงและการท่องเที่ยวที่ซบเซา เนื่องจากรายได้ของนักท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ ลดลง กำลังซื้อในประเทศที่ย่ำแย่อยู่แล้วก็จะยิ่งทรุดลง ผลกระทบครั้งนี้จึงมีความกว้างขวาง เพราะสินค้าที่ได้รับผลกระทบมีผู้ประกอบการและแรงงานในอุตสาหกรรมจำนวนมาก

สส.พรรคประชาชน กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มักแสดงตัวเลขการคำนวณพิกัดสินค้าอย่างคร่าวๆ ทำให้ไม่เห็นภาพชัดเจนว่าไทยส่งออกสินค้าประเภทใดกันแน่ แม้จะระบุว่าสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งคือโทรศัพท์ แต่ไทยไม่ได้ส่งออกโทรศัพท์มือถือไปยังสหรัฐฯ หากแต่เป็นอุปกรณ์รับส่งสัญญาณบลูทูธซึ่งมีสัดส่วน 12% ของมูลค่าส่งออก ส่วนอันดับสองคือเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ซึ่งจริงๆ แล้วคือฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เมื่อเห็นภาพสินค้าที่ชัดเจนขึ้น จะเห็นถึงจำนวนแรงงานนับหมื่นคนในแต่ละอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมตั้งแต่สงขลาไปจนถึงลำพูนในภาคเหนือ ที่จะได้รับผลกระทบ ไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแรงงานที่จะถูกเลิกจ้าง ธุรกิจขนาดเล็ก พ่อค้าแม่ค้า ชาวนา เกษตรกร และชาวประมง ซึ่งผลกระทบครั้งนี้จะยาวนาน

“เราต้องอยู่ในระเบียบโลกใหม่ที่รัฐบาลสหรัฐฯ สร้างขึ้นมาอีกระยะ โดยที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้เลยว่าสงครามการค้าในครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่” นางสาวศิริกัญญา กล่าว

สส.พรรคประชาชน กล่าวต่อไปว่า กระบวนการเจรจาจะเริ่มต้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า แต่ก็ไม่ทราบว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ขณะนี้มีถึง 70 ประเทศที่รอเข้าพบเพื่อเจรจากับสหรัฐฯ การตอบโต้การขึ้นภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ ยังคงดำเนินต่อไปและส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย เนื่องจากไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีนแล้ว ทำให้หากจีนถูกลดคำสั่งซื้อหรือเลิกซื้อ ยอดขายของไทยก็จะหายไปทันที ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์ยาง

นางสาวศิริกัญญา กล่าวถึงแนวทางการรับมือของรัฐบาลที่ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง 3 คำคือ รู้เขา รู้เรา เร็ว และแม่นยำ ว่า ก่อนหน้านี้ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีกลับออกมาพูดว่าจะรอดูท่าที ยังไม่รีบ จึงขอให้รัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องนี้

ส่วนกรณีที่ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาพูดถึงการเตรียมประเด็นต่างๆ 5 ประเด็นนั้น นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ยังคงมีความกังวลจนกว่ารัฐบาลจะได้พูดคุยกับเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง เพราะการนำเข้าสินค้าเกษตรในราคาที่ถูกกว่าย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศ แม้จะมีการประกาศว่าเป็นหลังฤดูเก็บเกี่ยวแล้วก็ตาม การเจรจาในประเด็นนี้จึงต้องโปร่งใสและต้องนำเกษตรกรเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการผ่อนคลายการนำเข้าสินค้าโดยการลดภาษี มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และการตรวจสอบคัดกรองสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ รวมถึงการหาโอกาสในการลงทุนของสหรัฐฯ ในประเทศไทย เช่น โครงการท่อก๊าซในอลาสก้า ซึ่งต้องพิจารณาถึงการหารือกับประเทศอื่นๆ ที่จะร่วมลงทุนด้วย เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

นางสาวศิริกัญญา ยังตั้งคำถามถึงประเด็นเครื่องบินยุทธโธปกรณ์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาด้วยหรือไม่

“สิ่งที่เรามีอยู่บนโต๊ะเจรจาไม่ให้ความรู้สึก ปรากฏการณ์แบบที่ทรัมป์ต้องการ ไม่มีอะไรใหญ่เบิ้ม หรือว่าอัศจรรย์เป็นอย่างที่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ได้วิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ จริง ๆ ว่าสิ่งที่เรามีอยู่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ทรัมป์ต้องการ ของที่เคยมีก็หายไปทุกวัน ๆ” นางสาวศิริกัญญา กล่าว

สส.พรรคประชาชน กล่าวว่า การส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนเป็นการกระทำที่ทำให้มิตรกลายเป็นศัตรู เช่นเดียวกับการจับนักวิชาการชาวสหรัฐฯ ด้วยข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และไม่ให้ประกันตัว ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ยังคงติดต่อกับรัฐบาลไทยอยู่ และสงสัยว่าการเจรจาจะยังคงราบรื่นหรือไม่

นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า พรรคประชาชนไม่ได้ติดใจต่อท่าทีของรัฐบาลที่ไม่เร่งรีบเจรจาและใช้กลยุทธ์รอดูท่าที แต่สิ่งที่เสนอคือการรวบรวมแนวทางการเจรจาของประเทศต่างๆ ในเอเชีย ซึ่งมีทั้งที่เริ่มเจรจาทันที ลดภาษีฝ่ายเดียว หรือยืนยันหลักการและเตือนภัยประชาชนอย่างตรงไปตรงมา เช่น สิงคโปร์

สส.พรรคประชาชน เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเยียวยา พยุง กระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศควบคู่ไปกับการเจรจา เพราะยิ่งการเจรจายาวนานเท่าใด ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อปากท้องของประชาชนมากขึ้น การลงทุนภาคเอกชนที่เติบโตจะยิ่งได้เปรียบ และส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนในที่สุด

นางสาวศิริกัญญา คาดการณ์ว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด GDP อาจเติบโตเพียง 1% เท่านั้น และสูงสุดไม่เกิน 2.3% หลังการขึ้นภาษี จึงขอให้รัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือแบบฉุกเฉิน เช่นเดียวกับที่เกาหลีใต้เพิ่มสภาพคล่องให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ และสิงคโปร์ตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อช่วยเหลือเอกชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมขอให้รัฐบาลเร่งหารือและทำความเข้าใจกับภาคเอกชนที่กำลังกังวลและอาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตออกจากสหรัฐฯ

“เรายังรอความชัดเจนให้รัฐบาลได้สื่อสารในเรื่องของการเข้าไปเยียวยากับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง“ นางสาวศิริกัญญา กล่าว

ท้ายที่สุด นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ด้วย GDP ที่เติบโตต่ำ การลงทุนที่ชะงักงัน และการว่างงานที่อาจเพิ่มขึ้น จึงเรียกร้องให้มีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวในเวลาเดียวกัน พร้อมระบุว่า หากวิกฤติในอนาคตจำเป็นต้องให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ก็สมเหตุสมผลที่รัฐบาลจะขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ โดยพรรคประชาชนพร้อมสนับสนุน หากรัฐบาลมีแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ชัดเจนเพื่อพยุงและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

“แต่ขออย่างเดียว อย่ากู้ไปเพื่อแจกเทน้ำบ่อทราย อย่ากู้ โดนตีเช็คกล่าวให้กับตัวเองและอย่ากู้โดยที่ไม่มีแผนที่ชัดเจน” นางสาวศิริกัญญา กล่าวทิ้งท้าย

นางสาวศิริกัญญา ย้ำว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเห็นว่านี่เป็นโอกาสสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ พร้อมเสนอให้คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจได้พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ในครั้งนี้อย่างลึกซึ้ง


                

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat