POLITICS

‘ชลธิชา’ ผิดหวัง คนไทยไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล กรณีกองทัพเมียนมาขอใช้สนามบินแม่สอด

‘ชลธิชา’ ผิดหวัง คนไทยไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล กรณีกองทัพเมียนมาขอใช้สนามบินแม่สอด ต้องตามหาข้อเท็จจริงกันเอง ชี้หากไทยวางตัวผิดพลาด ผลกระทบจะตกกับประชาชน เรียกร้องรัฐบาลโปร่งใส-ปรับท่าทีการเมืองให้สมดุล-แสดงบทบาทเชิงรุกมากกว่านี้

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี เขต 3 พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการการต่างประเทศ กล่าวถึงการบริหารจัดการสถานการณ์ของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ต่อกรณีรัฐบาลทหารเมียนมาขอใช้สนามบินแม่สอด จ.ตาก เพื่อลงจอดเครื่องบินของกองทัพว่าเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2567 ทั้งสื่อไทยและต่างประเทศต่างออกมารายงานข่าวกรณีที่กองกำลังผสมนำโดยกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army-KNLA) สามารถผลักดันฐานกองทัพเมียนมาออกจากเมืองเมียวดีจนสามารถควบคุมพื้นที่ได้ถึง 90% และรัฐบาลเมียนมาก็ได้ส่งหนังสือมายังกระทรวงการต่างประเทศไทย ขอใช้สนามบินแม่สอดในช่วง 7-9 เม.ย. 2567 วัตถุประสงค์เครื่องบินคือ “การเช่าเหมาลำพิเศษสำหรับผู้โดยสารและสินค้า” ซึ่งตามรายงานข่าวที่แพร่หลายไปกว้างขวางพร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักก็คือ ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการขอความร่วมมือในการเคลื่อนย้ายกำลังทหารเมียนมาจำนวน 617 คน ซึ่งเป็นเชลยศึกที่ทาง KNLA ได้มอบให้อดีตหน่วยพิทักษ์ชายแดน (BGF/KNA) ควบคุมตัวไว้ กับข้าราชการที่ยังหลงเหลือในเมียวดีอีกจำนวนหนึ่ง

ในช่วงเวลาราว 20.30 น. เครื่องบินเมียนมาลงจอดที่สนามบินแม่สอดจริงแล้วบินกลับไปหลังจากนั้นไม่นานนัก โดยไม่มีคำชี้แจงใด ๆ ออกมาจากปากรัฐบาลและกองทัพไทยเลย ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของรัฐบาล ต่างต้องพยายามค้นหาข้อเท็จจริงและประเมินความเสี่ยงกันเอง มีเพียงการรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ ซึ่งอ้างแหล่งข่าวจากเนปิดอว์ว่า เครื่องบินเมียนมาลำนี้ บินมาเพื่อขนเงินและทรัพย์สินจากธนาคารเมียวดีกลับไปเมียนมา และจะไม่มีเครื่องบินใดเข้ามาเพิ่มเติมอีก

ในขณะที่รัฐบาลกลุ่มชาติพันธุ์ก็กังวลว่า หากปฏิบัติการตามแผนการของรัฐบาลเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เสร็จสิ้นแล้ว กองทัพเมียนมาอาจใช้ยุทธการสละเมียวดี คือทิ้งระเบิดปูพรมโดยไม่แยกแยะระหว่างพลเรือนหรือผู้ถืออาวุธ ดังเช่นที่เคยกระทำกับเมืองลอยก่อ เมืองหลวงของรัฐกะเรนนีมาแล้ว

ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของกระแสข่าวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนคนไทยในพื้นที่ต่างกังวลต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น แทนที่เราจะเห็นคำชี้แจงที่มีรายละเอียดที่ชัดเจนจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แต่กลับมีเพียงคำชี้แจงสั้น ๆ จากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า เป็นการขอนำเครื่องบินพลเรือนมาขนของพลเรือน ไม่ใช่ขนอาวุธ ขนกำลังทหาร หรือการขอลี้ภัย แต่เป็นการขอทางการทูตเพื่อมาขนย้ายสิ่งของทางการทูตเท่านั้น

หลังจากนั้นวันนี้ เวลา 14.30 น. กระทรวงการต่างประเทศก็ได้แถลงข่าวความยาวเพียง 2 นาทีกว่า ซึ่งไม่ได้ให้ความกระจ่างใด ๆ เลยว่า เครื่องบินจากเมียนมาขนอะไรและมาขนใคร รัฐบาลไทยทำอะไรอยู่ และประชาชนคนไทยจะได้รับประโยชน์หรือได้รับผลกระทบอย่างไรจากเรื่องนี้ และที่น่าผิดหวังคือในการแถลงรอบนี้ เราไม่เห็นการแถลงเตือนประชาชนในพื้นที่ชายแดนว่าจะต้องเตรียมรับมืออย่างไร หากสถานการณ์การสู้รบชายแดนเมียนมารุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การอพยพหนีภัยสงคราม ซึ่งตอนนี้มีผู้อพยพชาวเมียนมาในพื้นที่เมียวดีได้ยึดแนวริมฝั่งน้ำเมยเป็นที่พักอาศัยชั่วคราว เพื่อเตรียมพร้อมที่จะข้ามมาในฝั่งไทยทางแม่สอด หากกองทัพเมียนมาเริ่มปฏิบัติการทางทหาร ทิ้งระเบิดใส่ชุมชนอย่างไม่เลือกหน้าอีก

“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใหญ่ คนทั่วโลกต่างกำลังตื่นตัวและติดตามอย่างใกล้ชิด ณ จุดนี้ รัฐบาลไทยต้องตื่น ออกมาชี้แจงว่า ความร่วมมือระหว่างไทยกับกองทัพเมียนมาอยู่ในระดับใด มีมาตรฐานปฏิบัติอย่างไร จากกระแสรายงานข่าวที่ว่ามีการขนทรัพย์สินเงินทองกลับไปนั้นจริงหรือไม่ เงินเหล่านี้เป็นเงินของใคร เงินได้มาจากไหน ขนเงินเข้ามาในสถานะอะไร การอนุญาตให้ขนเงินจำนวนมากมายขนาดนั้นเข้ามาในไทยได้เป็นไปตามกระบวนการและกฎหมายภายในประเทศแล้วใช่ไหม” ชลธิชาระบุ

สส.ก้าวไกลกล่าวต่อว่า จากกระแสข่าวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเชลยศึกหรือพลเรือนกลับเมียนมา หรือการเคลื่อนย้ายเงินทองทรัพย์สินจากต่างแดน ล้วนเป็นเรื่องใหญ่ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการต่อไปนี้เพื่อรับมือสถานการณ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้เกิดความชัดเจน

1.รัฐบาลต้องมีความโปร่งใส พร้อมรับการตรวจสอบของทุกฝ่าย ชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ครบถ้วน เพราะการสื่อสารของคนในรัฐบาลที่ไม่ตรงกัน นำมาซึ่งความสับสน ประชาชนไม่เชื่อมั่น

2.รัฐบาลต้องมีท่าทีทางการเมืองที่สมดุล ที่ผ่านมารัฐบาลถูกตั้งคำถามว่าได้ปฏิบัติต่อสองฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมาและฝ่ายต่อต้าน อย่างเท่าเทียมด้วยมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ เรื่องนี้มีความสำคัญมากต่อบทบาทของไทยในฐานะประเทศตัวกลาง โดยวิธีหนึ่งที่จะรับมือเรื่องนี้ได้คือการชี้แจงแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ หรือ SOP (Standard Operating Procedure) ที่จัดทำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งที่ผ่านมา ไม่เคยมีการชี้แจงต่อสาธารณะ

ตนเกรงว่าหากไทยวางตัวผิดพลาด เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนรัฐบาลเมียนมาในการสู้รบนี้ เช่น นำกำลังทหารออกจากพื้นที่เพื่อให้กลับมารบใหม่ หรือขนทรัพย์สินสิ่งของที่อาจถูกนำมาใช้เพื่อการทำสงครามอีก หรือเปิดทางเพื่อให้กองทัพเมียนมาสามารถถล่มเมียวดีได้โดยสะดวก ผลกระทบก็จะตกอยู่กับประชาชนไทย โดยเฉพาะประชาชนบริเวณชายแดน และอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัฐบาลเมียนมาในอนาคต

3.รัฐบาลต้องมีบทบาทเชิงรุกต่อสถานการณ์ในเมียนมาได้แล้ว แทนที่จะนิ่งเงียบ รัฐบาลเศรษฐาต้องออกมาคุยกันอย่างคนโต ๆ ว่าตัวเองได้ทำอะไรลงไป และตอนนี้ได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์การอพยพหนีภัยสงครามแล้วหรือยัง

การรับมือนั้นคงไม่ใช่การเฝ้าระวังไม่ให้คนข้ามแดนมา แต่จะต้องเป็นการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้คนได้หนีร้อนมาพึ่งเย็น ใช้หลักมนุษยธรรมกับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นข้าราชการเมียนมาหรือประชาชนริมขอบชายแดน หากไม่ได้เตรียมการเรื่องนี้ให้รอบคอบ ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณสุขชายแดนที่ล้มเหลวในการควบคุมโรคติดต่ออย่างมาลาเรีย วัณโรค และโรคท้องร่วง ผลกระทบด้านการจัดสรรทรัพยากรชายแดน และภาพลักษณ์ไทยในเวทีโลก

ทั้งนี้ ต้องย้ำว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ในระยะยาว ลำพังการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แม้จำเป็นแต่ไม่เพียงพอ เราต้องแก้ที่ต้นเหตุ เช่น รัฐบาลไทยต้องมีบทบาทนำในกระบวนการสร้างสันติภาพในเมียนมา โดยยึดมั่นคุณค่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และกระบวนการยุติธรรม

Related Posts

Send this to a friend