POLITICS

‘กัณวีร์’ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ประกาศนโยบาย “พาทหารกลับบ้าน”

‘กัณวีร์’ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ประกาศนโยบาย “พาทหารกลับบ้าน” ย้ำสันติภาพกินได้ ต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษ ให้จังหวัดจัดการตนเอง พัฒนาการศึกษาตาดีกา และปอเนาะ ชูอัตลักษณ์มลายูปาตานี

นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แนะนำว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.และนโยบายพรรค ที่ประกาศปักธงส่งผู้สมัคร ส.ส.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพร้อมเป็นพรรคของคนปาตานี โดยคนปาตานี เพื่อคนปาตานี

ในการแนะนำตัวพรรคเป็นธรรมกับ นายมุสตารซีดีน วาบา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จ.ปัตตานี พรรคเป็นธรรม ที่มัสยิดฟาฎอนี ซึ่งนอกจากนโยบายยกมาตรฐานโรงเรียนปอเนาะและตาดีกา สนับสนุนการศึกษาตามหลักศาสนาอิสลามแล้ว ยังมีนโยบายยกเลิกเสรีกัญชา พัฒนาคุณภาพชุมชนและเยาวชน และยกระดับการเจรจาสันติภาพให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยประชาชนมีส่วนร่วม ได้รับความสนใจจากประชาชนสอบถามถึงความเป็นไปได้ในการผลักดันนโยบายเหล่านี้

“พรรคเป็นธรรม มีนโยบาย ขอพาทหารกลับบ้าน”

นายกัณวีร์ ประกาศต่อประชาชนที่มัสยิดฟาฎอนี ว่ามีนโยบายพาทหารกลับบ้าน เพราะเชื่อว่าหากมีสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทหารที่มาประจำการจะได้กลับบ้าน ประชาชนจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข นั่นคือสันติภาพกินได้ โดยจะทำได้ต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ให้คงเหลือเพียงกำลังพลที่จำเป็นต้องอยู่บริเวณชายแดนเท่านั้น และทำคู่ขนานไปกับการยกระดับการเจรจาสันติภาพ เข้าสู่ระบบรัฐสภา ให้มีการตรากฎหมายรับรองการสร้างสันติภาพในปาตานี

“กฎหมายพิเศษต่างๆ เยอะมาก ถ้าเราเข้าไปในรัฐสภา เราจะยกเลิกกฎหมายพิเศษ จะเป็นใบเบิกทางพาพี่น้องทหารกลับบ้าน ผมเชื่อมั่นว่าทุกคนอยากกลับบ้าน ถ้าพาทหารกลับบ้านได้ สันติภาพก็เกิดขึ้นได้ ทุกคนก็กลับมาใช้ชีวิตปกติ ทหารได้กลับไปทำหน้าที่ของตนเองครับ” นายกัณวีร์ กล่าว

นายกัณวีร์ ได้ลงพื้นที่ ร.ร.ตาดีกา ดารุลอูลูม ต.กายูคละ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ร่วมกับ นายฮาฟิส ยะโกะ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จ.นราธิวาส พรรคเป็นธรรม เพื่อรับฟังปัญหาการเรียนการสอนใน ร.ร.ตาดีกา โดยที่ ร.ร.ตาดีกา ดารุลอูลูม ก่อตั้งมา 33 ปี แล้ว ตั้งแต่ปี 2533 แต่ยังไม่สามารถจดทะเบียนได้ เพราะมีปัญหาการถือครองที่ดิน ซึ่งเจอปัญหาคล้ายๆกันของ ร.ร.ตาดีกา จำนวนมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ที่ผ่านมาเป็นงบประมาณจากชุมชน และการระดมทุน

“กระดานดำของนักเรียนชั้นอนุบาล เป็นกระดานดำครึ่งแผ่น ที่ชำรุดเพราะใช้มานานและไม่มีงบประมาณซื้อใหม่ ครูจะเขียนได้แค่ครึ่งเดียว ส่วนอีกห้องมีกระดานดำใช้ได้ แต่มาจากการบริจาคจากกระดานดำนับคะแนนเลือกตั้ง อบต. เด็กๆ ก็จะได้เรียนหนังสือกัน แต่จากอาคารเก่าแก่ ไม่มีผนังห้องกั้นเสียง ทำให้เวลาเรียนห้องติดกันก็สลับกันเสียงดังแทน”

นายฮาฟิส ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 นราธิวาส เป็นอดีตครูอาสา ร.ร.ตาดีกา และเป็นนักกิจกรรมกลุ่มปาตานี บารู ที่ติดตามปัญหาการศึกษาและการพัฒนาชุมชน ทราบดีว่า งบประมาณของ ร.ร.ตาดีกา ที่ไม่ได้เงินอุดหนุนจากรัฐ จะนำไปใช้ในสิ่งที่จำเป็นสำหรับนักเรียนมากที่สุดก่อน เช่นหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน กระดานดำ หรือผนังกั้นห้อง จึงเป็นเรื่องที่อาจต้องรองบประมาณ แม้แต่ห้องพักครู ก็ต้องใช้โต๊ะนักเรียนที่เหลือใช้ และในห้องที่ไม่มีพื้นปูน

นายกัณวีร์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ ร.ร.ตาดีกาน้ำขาว ตอกย้ำความจำเป็นที่ต้องยกระดับมาตรฐานโรงเรียนปอเนาะ และตาดีกา ที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เนื่องจากการเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากหลักสูตรสามัญแล้ว เด็กๆ ต้องเข้าเรียนที่ตาดีกา และ ปอเนาะ ที่จะได้เรียนหลักทางศาสนาอิสลาม และการอยู่ร่วมกันในสังคม

“รัฐในฐานะผู้รับใช้ประชาชนต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการควบรวมและคงอยู่ของระบบการศึกษาที่สำคัญในพื้นที่ หากรัฐไม่ยอมรับความจำเป็นของการคงอยู่ของระบบการศึกษาที่จำเป็นของชุมชน จะยิ่งทำให้ประชาชนหนีห่างจากระบบหลักที่จำเป็นของประเทศได้”

นายกัณวีร์ เปิดเผยว่า นโยบายจังหวัดจัดการตนเองของพรรคเป็นธรรม เน้นหลักการจัดการตนเอง หรือ กระจายอำนาจ รวมถึงการศึกษา จะถูกนำมาเป็นประเด็นต้นๆ ร่วมกับการกระจายอำนาจการปกครอง เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสังคมและอนาคตของประเทศ ท้องถิ่นต้องสามารถพิจารณานำการศึกษาที่สำคัญของพื้นที่เข้าร่วมหลักสูตรสามัญที่จำเป็นให้ได้ โดยมีรัฐส่วนกลางสนับสนุนทางเทคนิคให้สามารถสร้างการศึกษาที่ยกระดับไปสู่สากลที่ยอมรับได้ต่อไป

“การที่โรงเรียนตาดีกา/ปอเนาะ หลายๆ แห่ง ยังไม่สามารถเข้าระบบทางการศึกษาของประเทศได้ และการที่ระบบการศึกษาจากส่วนกลาง ไม่ยอมปรับระบบให้สอดรับกับความจำเป็นในการเรียนการสอนที่มันต้องทำให้เด็กคิดได้ คิดเป็น และทราบว่าเรียนไปทำไม และเพื่ออะไร ยิ่งจะทำให้ระบบการศึกษาของไทยห่างไกลจากความเป็นสากลเข้าไปทุกขณะ”

เลขาธิการพรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า การกระจายอำนาจทางการศึกษาจึงเป็นคำตอบในการสร้างสังคมผ่านการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนที่มีความหลากหลาย งบประมาณภาครัฐต้องกำหนดให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการได้อย่างครอบคลุม หากนโยบายจังหวัดจัดการตนเองสามารถปรับใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นปอเนาะ/ตาดีกา หรือโรงเรียนโฮมสคูล (Home School) หรือโรงเรียน Post 10 ตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตกของไทย จะสามารถเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องและสอดรับกับวิถีการดำรงชีวิตของประชาชน โดยถูกทำให้เป็นสากลในเวลาเดียวกัน

Related Posts

Send this to a friend