POLITICS

‘เสรีรวมไทย’ เปิดนโยบาย ‘ปฏิรูป ส.ว.’ ชี้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง

‘เสรีรวมไทย’ เปิดนโยบาย ‘ปฏิรูป ส.ว.’ ชี้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง และห้ามผู้เกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหาร สมัคร ส.ว. เป็นเวลา 20 ปี

วันนี้ (9 มี.ค. 66) ณ ที่ทำการพรรคเสรีรวมไทย รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และ ผศ.ดร.บุญส่ง ชเลธร ผู้อำนวยการเลือกตั้ง พรรคเสรีรวมไทย แถลงนโยบายด้านการเมือง ชุดที่ 2 เรื่องการปฏิรูปวุฒิสภา

รศ.สมชัย กล่าวถึงนโยบายปฏิรูป ส.ว. ของพรรคเสรีรวมไทยไว้ 4 ข้อ ดังนี้

1.การได้มาซึ่ง ส.ว. จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับประชาชน ไม่เอา ‘ส.ว. ลากตั้ง’ ต้องการ ‘ส.ว. เลือกตั้ง’ โดยต้องเป็นการเลือกตั้งทางตรงจากประชาชนเท่านั้น การเลือกตั้งดีที่สุดคือใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เพราะผู้สมัครจะเป็นที่รู้จักของประชาชนในพื้นที่ มีผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ การซื้อเสียงหรือการใช้อำนาจในทางมิชอบจะทำได้น้อยลง ซี่งการเลือกตั้ง ส.ว. เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2540 ทำให้ได้ ส.ว. มีคุณภาพเข้าสู่สภา โดยกำหนดอายุของการดำรงตำแหน่ง ส.ว. ไว้ที่ 4 ปี ให้เท่ากับ ส.ส. ถ้าจัดเลือกตั้งพร้อมกันได้ก็ทำเลย ก็คือเป็นบัตรใบที่ 3 ประเทศอื่นก็ทำเช่นนี้ เป็นการประหยัดในการจัดการ และสะดวกต่อประชาชนในการใช้สิทธิ์

2.กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ส.ว. คือต้องเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังนั้น ลักษณะต้องห้ามคือต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหาร โดยกำหนดว่าต้องเว้นห่างทางการเมือง 20 ปี หลังจากเกี่ยวข้อง ก็คือนับตั้งแต่ 21 พฤษภาคม 2557 เพราะถือว่าไม่เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย และได้รับผลประโยชน์มามากมายแล้วในขณะที่ดำรงตำแหน่ง เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่รับเงินเดือนสองทาง ทั้งจากการเป็นข้าราชการประจำ และจาก สนช. หรือ ส.ว. ที่รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย

3.ให้อำนาจ ส.ว.เพิ่ม เพราะปัจจุบัน ส.ว. ไม่มีอำนาจใดเลยนอกจากแต่งตั้งองค์กรอิสระต่าง ๆ หรือการพิจารณากฎหมายต่อจาก ส.ส. โดยเสนอให้ ส.ว. มีอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย เช่น หากรัฐมนตรี องค์กรอิสระ ส.ส. หรือแม้กระทั่ง ส.ว. ด้วยกันเอง กระทำผิด จะเพิ่มช่องทางการเสนอชื่อจากประชาชน โดยหากประชาชนเข้าชื่อกันมากกว่า 10,000 รายชื่อ ที่ประชุม ส.ว. หรือที่ประชุมร่วมระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. ก็จะมีสิทธิ์ในการลงมติเพื่อถอดถอนบุคคลดังกล่าว

4.ส.ว. ต้องดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งหลายครั้งการประชุมที่ผ่านมาเป็นการประชุมร่วม ระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. จะเห็นภาพ ส.ว. สนับสนุน เข้าข้างฝ่ายรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง จึงต้องกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง หาก ส.ว. ไม่เป็นกลางทางการเมือง เช่น รับงานหรือรับผลประโยชน์จากฝ่ายการเมืองเพื่อลงมติไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ส.ว. นั้น ๆ จะต้องถูกถอดถอน และลงโทษทางอาญาอย่างรุนแรง

ผศ.ดร.บุญส่ง กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา บทบาทของ ส.ว. เป็นปัญหามาโดยตลอด และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน อันเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่มีลักษณะสืบทอดอำนาจ ส.ว. จึงกลายเป็นองค์กรหนึ่งที่ถูกใช้เพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาจนถึงปัจจุบัน

ผศ.ดร. บุญส่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า ส.ว. เป็นปัญหาใหญ่ และเป็นอุปสรรคในการพัฒนาตามระบอบประชาธิปไตย จริง ๆ แล้วจะมี ส.ว. หรือไม่มีก็ได้ แต่หากจะมี ก็จะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น

“ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ระบุว่าการเลือกตั้ง ส.ว. ชุดใหม่ เป็นการเลือกตั้งไขว้ตามกลุ่มอาชีพ ซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตย ทำให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวกเหมือนเดิม ไม่ยึดโยงกับประชาชน พรรคเสรีรวมไทยจึงมีความชัดเจนว่า ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น” ผศ.ดร. บุญส่ง กล่าว

Related Posts

Send this to a friend