POLITICS

สมาคมคนพิการฯ ยื่นร่าง พ.ร.บ.คนพิการฯ ให้สภาฯ พิจารณา

สมาคมคนพิการฯ ยื่นร่าง พ.ร.บ.คนพิการฯ ให้สภาฯ พิจารณา หวังปรับปรุงกฎหมายให้ชัดเจน ทันสมัย

วันนี้ (9 ก.พ. 66) ที่สัปปายะสภาสถาน รัฐสภา สมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ร่วมกับนายกสมาคมแต่ละประเภทความพิการ ยื่นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ต่อนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีประเด็นสำคัญ 6 ประการ คือ 1. การปฏิรูปการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2. การยกระดับกลไกการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ 3. การจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและกำกับการเข้าถึงสภาพแวดล้อมได้โดยสะดวก 4. การคุ้มครองสิทธิคนพิการในการไม่ถูกแสวงประโยชน์ 5. การส่งเสริมสิทธิสตรีพิการ 6. การส่งเสริมและการสนับสนุนการสื่อสารด้วยภาษา ช่องทาง วิธีการ และรูปแบบการสื่อสารทางเลือกและการสื่อสารเสริมอื่นใดที่คนพิการสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก

นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ เลขาธิการสมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฎหมายคนพิการถูกใช้มาประมาณยี่สิบปีแล้ว ปัจจุบันสภาพสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ประเด็นคนพิการยังขาดความชัดเจน จึงขอเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งพ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมีข้อเรียกร้องให้ดูแล และคุ้มครองสิทธิ์คนพิการมากขึ้น รวมถึงมีประเด็นกองทุนคนพิการ วันนี้เรามีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากนายจ้างที่ไม่จ้างงานคนพิการ ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยกองทุนมีหน้าที่ให้คนพิการกู้ยืมเงิน โดยแต่ละคนมีวงเงินเพียง 60,000 บาท และคนพิการที่อยู่ในระบบมีเพียงประมาณ 200,000-300,000 คน ทั้ง ๆ ที่คนพิการในประเทศไทยจริง ๆ มีมากถึง 2 ล้านคน

“อยากให้กองทุนมีประสิทธิภาพ และเข้าถึงคนพิการในระดับพื้นที่มากที่สุด ช่วงโควิดเราได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพียงบางส่วน และได้รับเป็นกลุ่มสุดท้าย กว่าจะได้รับการช่วยเหลือก็ใช้เวลาไป 7-8 เดือน” นายชูศักดิ์ กล่าว

นายชูศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้สังคมมองคนพิการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะปัจจุบันสังคมยังมีแนวคิดแบ่งแยกคนพิการ เช่น สร้างโรงเรียนคนพิการให้เขาอยู่ด้วยกัน ซึ่งเราไม่ต้องการแบบนั้น พวกเขาควรเรียนกับเพื่อน ๆ ที่เป็นคนทั่วไป เพราะพวกเขาก็ต้องอยู่ในสังคม วันหนึ่งพวกเขาอาจทำงานให้กับประเทศชาติได้

นายเอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่าคนพิการควรมีโอกาสในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว คนพิการยังคงถูกเลือกปฏิบัติอยู่ คนพิการหลายคนยังไม่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้เพราะถูกปฏิเสธจากสายการบิน คนพิการบางคนก็ไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารหรือทำธุรกรรมการเงินได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป

นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลประกาศว่า ‘อยากเรียนต้องได้เรียน’ แต่ในฐานะที่ตนเองมีลูกเป็นคนพิการ ไปสมัครที่โรงเรียนไหนก็ถูกปฏิเสธหมด ถูกผลักให้ไปเรียนโรงเรียนคนพิการ เกิดการแบ่งแยก ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ตนเองต้องการ อยากให้โรงเรียนทุกโรงเรียนเปิดรับคนพิการเข้าไปเรียน

ตัวแทนจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้ภาษามือของคนหูหนวกได้รับการรับรอง รวมถึงล่ามภาษามือ คำบรรยายแทนเสียง และเสียงบรรยายแทนภาพ อยากสนับสนุนให้คนหูหนวกเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น

นายอัษฎากรณ์ ขันตี ตัวแทนจากบุคคลออทิสติก กล่าวว่า อยากให้สังคมจริงใจ เป็นมิตร และอยู่เคียงข้างคนพิการมากกว่านี้ อย่าคิดว่าคนพิการเป็นภาระหรือเป็นคนชายขอบ

“อยากให้โรงเรียนเลิกปฏิเสธคนพิการ และหันมาเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนพิการ เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพของคนพิการอย่างไร้ขีดจำกัด ผมเชื่อว่าคนพิการทุกคนมีความรู้ ความสามารถ ศักยภาพ และมีคุณค่า และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข”

นายชัชนันท์ ภักดีศุภผล จากมูลนิธิออทิสติกไทย กล่าวว่า อยากให้ผู้คนเอื้อที่จอดรถสำหรับคนพิการให้กับคนพิการก่อน และมองว่าควรมีบทลงโทษทางกฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนพ.ร.บ หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับคนพิการ และขอให้คนในสังคม อย่าดูถูก เหยียดหยาม หรือกลั่นแกล้งคนพิการ

นายองอาจ กล่าวว่า ทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่ากัน ตนเองจะนำร่างพ.ร.บ.นี้ ไปให้ทางสภาพิจารณา เบื้องต้นจะเสนอเป็นกฎหมายไว้ก่อน แม้สภาจะสิ้นสุดในไม่นาน แต่เชื่อว่าเมื่อเปิดสภาใหม่ ส.ส.จากทุกพรรคจะเห็นความสำคัญในประเด็นนี้

Related Posts

Send this to a friend