POLITICS

‘ซูการ์โน มะทา’ ค้านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ชี้ขัดต่อหลักการอิสลาม

‘ซูการ์โน มะทา’ ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ ค้านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ชี้ขัดต่อหลักการอิสลาม ‘สามีภรรยา หมายถึง ชายและหญิง’ 

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (9 ก.พ. 65) นายซูการ์โน มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยะลา เขต 2 พรรคประชาชาติได้อภิปรายไม่สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ในประเด็นสมรสเท่าเทียม

นายซูการ์โน มะทา ได้เริ่มต้นการอภิปรายด้วยการกล่าวว่า “บิสมิลละห์ฮิรเราะห์มานิรรอฮีม” หมายถึง ด้วยพระนามของพระเจ้าผู้ทรงกรุณาปราณีผู้ทรงเมตตาเสมอ โดยกล่าวว่า “ตนเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนไทยโดยเฉพาะผู้นับถือศาสนาอิสลาม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไว้วางใจให้พรรคประชาชาติเข้ามาทำหน้าที่ผู้แทนราษฏร และประชาชนไทยมุสลิมอีกกว่า 10 ล้านคนในประเทศไทย ไม่สามารถที่จะรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ เนื่องจากดูในหลักการของกฎหมายที่เขียนไว้ในข้อที่ 1 ให้ชายหรือหญิงซึ่งเป็นบุคคลสองคนที่เป็นเพศเดียวกันสามารถหมั้นและสมรสกันได้ตามประมวลกฎหมาย ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักการความศรัทธาและปฏิบัติของศาสนาอิสลาม”

“การอภิปรายเรื่องนี้อาจต้องใช้เวลาเพราะเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ได้พยายามศึกษากฎหมายฉบับนี้ซึ่งมี 90 กว่ามาตรา หลักการทำงานของพรรคประชาชาติเรายึดมั่นต่อหลักการในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นสำคัญ กฎหมายใดก็ตามที่ตราขึ้นแล้ว ขัดหรือแย้งต่อพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ที่ได้ถือปฏิบัติมากกว่า 1,400 ปีโดยไม่มีการแก้ไขนั้น เราไม่สามารถที่จะรับหลักการได้”

“โดยเฉพาะในข้อที่ 7 ที่ให้คู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกัน สามารถจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นสิ่งที่เราต้องพูด ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุด ฝ่ายผู้สนับสนุนได้อ้างรัฐธรรมนูญมาตราที่ 31 บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการประกอบพิธีตามหลักศาสนาของตนเอง ซึ่งตามหลักการของศาสนาอิสลามนั้นคำว่า ‘สามีภรรยา หมายถึง ผู้หญิงกับผู้ชาย’ เป็นคำที่บัญญัติไว้ชัดในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เปรียบเทียบเหมือนกับคนไทยที่จะต้องยึดสามสิ่งไว้นั่นคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ในส่วนสิทธิเสรีภาพทางศาสนาตามมาตราที่ 31 เขียนไว้ชัดเจนว่าสามารถประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาตนเองได้ และการออกกฎหมายหากขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจะถือว่ากฎหมายนั้นใช้บังคับไม่ได้ 

แต่เมื่อมีการยกร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้วขัดหรือแย้งกับพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งอยู่ในหลักศรัทธาของอิสลามที่มีอยู่ 6 ประการ 1.ศรัทธาต่อพระเจ้าผู้ทรงมีอำนาจเหนือทุกสรรพสิ่งในสากลโลก 2.ศรัทธาต่อศาสนฑูต 3.ศรัทธาต่อพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเป็นธรรมนูญแห่งชีวิต 4.ศรัทธาต่อศาสดา 5.ศรัทธาต่อวันปรโลก 6.ศรัทธาต่อกฎแห่งการกำหนดสภาสะ ซึ่งมุสลิมจะยึดมั่นในคำปฏิญาณ ‘ลาอิลาฮาอิลลัลลอฮฺ มูฮัมมาดัรรอซูลลุลลอฮฺ’ (หมายถึง ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเอกองค์อัลลอฮฺและมูฮัมมัดคือศาสนฑูตของพระองค์) “

“ขอฝากไปยังพรรคก้าวไกลและผู้ที่นำเสนอกฎหมายฉบับนี้ ว่าตนได้หารือกับผู้นำศาสนา นักวิชาการ เพื่อหาทางออกว่าในกรณีที่ฝ่ายต้องการให้ตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาให้ได้ ขอให้รัฐบาลได้ทบทวนกฎหมายฉบับนี้ ขอให้มีบทเฉพาะกาลขึ้นเพื่อยกเว้นไม่บังคับใช้แก่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม เพื่อให้ประชาชนไทยมุสลิมกว่า 10 ล้านคนจากจำนวนคนไทย 70 ล้านคน ได้ปฏิบัติตามแนวทางศาสนาของตนเอง และรวมทั้งประชาชาติมุสลิมทั่วโลกอีกกว่า 1,500 ล้านคนที่ยึดถือพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นธรรมนูญแห่งชีวิต” นายซูการ์โนกล่าว

Related Posts

Send this to a friend