POLITICS

นิเทศ จุฬาฯ-วารสาร มธ.-นักวิชาการสื่อ แถลงค้าน กสทช. จะใช้เงินกองทุน 1,600 ล้านบาทซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก

ยันผิดวัตถุประสงค์กองทุน จี้ทบทวนกฎ Must Have-Must Carry ขอ กกท.หาแนวทางอื่นที่ไม่กระทบประโยชน์สาธารณะ

วันนี้ (8 พ.ย. 65) คณาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านสื่อ ร่วมลงนามคัดค้านการนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ไปใช้สนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 เป็นจำนวนเงินกว่า 1,600 ล้านบาท

รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้การกีฬาแห่งประเทศไทยพิจารณาหาแนวทางความร่วมมืออื่น ที่ไม่กระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งยังได้เรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และ กทปส. ออกมาชี้แจงถึงสถานะทางการเงินล่าสุด รวมถึงพิจารณาวาระนี้อย่างโปร่งใส เป็นธรรม คำนึงถึงการคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนวงกว้างเป็นสำคัญ

เหตุผลสำคัญ คือการพิจารณานำเงินก้อนนี้ไปสนับสนุนนั้น ขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุน และมีโอกาสที่จะกระทบต่อสภาพคล่องของเงินทุน เกิดการหยุดชะงักของการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรสื่อสารประเทศ ขาดโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในภาพรวมด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา ยังได้เสนอแนวทางแก้ไขในระยะสั้นคือเจรจากับองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาจรวมถึงการพิจารณาเรื่องของกฎ “Must Have” และ “Must Carry” ว่าจะมีข้อยกเว้นอย่างไรได้บ้าง

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่มีความกดดันจากฝ่ายการเมืองถึง กสทช. เพราะ พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ เคยกล่าวว่าได้ดูบอลโลกฟรีทุกคู่แน่นอน รศ.ดร.ปรีดา กล่าวว่า ตนขอไม่แสดงความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับการเมือง ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพราะเห็นผลกระทบเชิงผลประโยชน์ของสังคมมากกว่า และยืนยันว่าจะติดตามการประชุม กสทช.เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ในวันพรุ่งนี้อย่างใกล้ชิด

ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอให้ กสทช. ดำเนินงานตามพันธกิจสำคัญคือการเป็นผู้กำกับดูแลการเข้าถึงกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงเท่าเทียม จึงจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ มองผลประโยชน์ของคนส่วนมากเป็นสำคัญ และไม่ควรนำเงินหลักพันล้านมาใช้เพียงแค่ 1 เดือนแล้วหายไป โดยเฉพาะเงินของกองทุน กทปส. นั้นออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงบริการของกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม เช่น กลุ่มผู้พิการ เด็ก คนชายขอบ จึงเป็นการนำเงินของกองทุนมาใช้ผิดวัตถุประสงค์แน่นอน

เมื่อถามว่าหาก กสทช. ยืนกรานอนุมัติเงินส่วนนี้ ผศ.ดร.มรรยาท บอกว่า กสทช. ก็ต้องออกมาชี้แจงให้ชัดว่าเงินเหลือเท่าไหร่ แผนงานต่อไปมีอะไรบ้าง เอาเงินส่วนนี้มาใช้จะกระทบโครงการใดต้องหยุดชะงักบ้าง ก่อนตั้งคำถามไปถึงภาคเศรษฐกิจ หากลงทุนแล้วเกิดการขยายตัวจริง ทำไมภาคเอกชนถึงไม่กล้าลงทุน ฉะนั้นส่วนตัวเลยไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ หนำซ้ำอาจกระทบต่อประชาชนด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มรรยาท ยังฝากสื่อมวลชนจับตาถึงการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ ย้ำว่า กสทช. ไม่มีอำนาจแทรงแซงในกรณีนี้ และในวันพรุ่งนี้ (9 พ.ย.) ซึ่งเป็นการประชุมคณะกรรมการ กสทช. นักวิชาการพร้อมติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดว่า กสทช. จะมีมติออกมาอย่างไร

Related Posts

Send this to a friend