POLITICS

‘ชัชชาติ’ ถอดบทเรียนเหตุรุนแรงหนองบัวลำภู ตั้งเป้า กทม เป็นเมืองปลอดยาบ้า

วันนี้ (8 ต.ค.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงมาตรการรับมือเหตุรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า อย่าคิดว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นที่จังหวัดหนองบัวลำภูอีก เพราะอาจมีพฤติกรรมเลียนแบบ ซึ่งกรุงเทพมหานครต้องรับผิดชอบให้มากขึ้น ป้องกันไม่ให้คนภายนอกเข้าภายในโรงเรียน และต้องมีระบบแจ้งเหตุเตือนภัย ส่วนต้นเหตุคือ เรื่องยาบ้าและอาวุธปืน เป็นเรื่องที่ต้องเคร่งครัดและดูแล เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่จู่ ๆ ก็เกิดขึ้นมา แต่มีสัญญาณเตือนเรื่องสภาพจิตใจของคนล่วงหน้ามาแล้ว หากชุมชนในกรุงเทพมหานคร เข้มแข็งอาจจะพอเห็นอาการของแต่ละคน ไม่ใช่เขามีอาการแล้วไล่เขาออกไป คงต้องแก้ที่ต้นเหตุด้วย

พล.ต.อ.อดิศร์ กล่าวว่า ปัญหาคือ อาวุธปืน ยาเสพติด และพฤติกรรมของคน ประเด็นยาเสพติด สำคัญคือ การบำบัด มีช่วงหนึ่งที่กรุงเทพมหานครมีนโยบาย “ผู้เสพคือผู้ป่วย” ดังนั้นการบำบัดจึงต้องทำให้ลึก หากสถานที่ไม่พอ คนดูแลไม่พอ และไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้เสพ ก็เป็นการแก้ปัญหาแบบผิวเผิน ส่วนอาวุธปืนคงทำลำบาก เพราะประเทศไทยมีอาวุธปืนจำนวนหลักสิบล้านกระบอก แต่มีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน (แบบ ป.4) น้อยมาก ส่วนใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวทั่วราชอาณาจักร (แบบ ป.12) เป็นไปตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน มาตรา 22 ปัจจุบันมีผู้ขอพกพาอาวุธปืนทั่วราชอาณาจักรเพียงหลักร้อยคน เนื่องจากการขออนุญาตเป็นไปค่อนข้างยาก อาชีพที่จะผ่านเกณฑ์ต้องมีเหตุผลจำเป็น ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ อาชีพในแวดวงกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้พิพากษา อัยการและราชทัณฑ์ ส่วนตำรวจขอใบพกพาอาวุธปืนน้อยมากเพราะได้รับข้อยกเว้นในการใส่เครื่องแบบและปฎิบัติหน้าที่ ดังนั้นจึงต้องเข้มงวดในการตรวจตรา ซึ่งกรุงเทพมหานครสามารถขอดูอาวุธได้ในทุกที่ เช่นในสถานบริการก็ตรวจอาวุธปืนก่อนเข้าใช้บริการอยู่แล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครก็ไม่ได้พกอาวุธปืน ส่วนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหากมีความจำเป็นก็สามารถขออนุญาตพกพาอาวุธปืนได้

นายชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครคงต้องเพิ่มมาตรการในชุมชน เสริมกำลังในชุมชนให้ดูแลผู้ติดยา และทำการบำบัดในศูนย์บริการสาธารณสุขทั่วกรุงเทพมหานคร โดยกรุงเทพมหานครขอตั้งเป้าเป็นเมืองปลอดยาบ้า แม้จะยากหรืออยู่นอกการควบคุมในหลายเรื่อง แต่หากชุมชนเข้มแข็งก็จะมีมาตรการในการดำเนินการต่อไป

เหตุการณ์ที่หนองบัวลำภูสุดท้ายแล้วก็จะผ่านไป แต่ผ่านไปแล้วต้องไม่เหมือนเดิม ให้ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเป็นเครื่องกระตุ้นให้มีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นในสังคม กรุงเทพมหานครต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ แม้จะไม่มีนโยบายอย่างชัดเจน แต่จะต้องเพิ่มมาตรการเรื่องนี้เข้าไปด้วย

ทุกชุมชนต้องตั้งเป้าหมายว่า ต้องเป็นพื้นที่ปลอดยาเสพติด ต้องรู้พฤติกรรมของคนในชุมชน อาจจะต้องทำข้อมูล อย่างน้อยโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครต้องปลอดภัย เบื้องต้นได้ประสานงานกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตลอด เพราะมีการตั้งคณะทำงาน Smart Safty Zone ซึ่งมีการพูดคุยกันเรื่องนี้ ยอมรับว่าที่ผ่านมากรุงเทพมหานครไม่ได้เน้นเรื่องยาเสพติดมาก แต่เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้กรุงเทพมหานคร ต้องโฟกัสเรื่องยาเสพติดให้เข้มข้นขึ้น

Related Posts

Send this to a friend