POLITICS

บอร์ดกรุงเทพธนาคม เตรียมยื่นอุทธรณ์สู้คดีรถไฟฟ้าสายสีเขียว

บอร์ดกรุงเทพธนาคม เคาะ เตรียมยื่นอุทธรณ์สู้คดีรถไฟฟ้าสายสีเขียว พร้อมขอพิจารณาคดีใหม่

วันนี้ (8 ก.ย.65) ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นประธานการประชุมบอร์ดกรุงเทพธนาคม เพื่อหาแนวทางหลังศาลปกครองกลางพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร และกรุงเทพธนาคม ร่วมกันจ่ายหนี้กรณีผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นเงิน 11,754 ล้านบาท

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง เปิดเผยว่า การต่อสู้คดีมีข้อโต้แย้งมาก่อนบอร์ดชุดนี้จะรับตำแหน่ง ซึ่งกรุงเทพธนาคมจะต้องรักษาประโยชน์ ในฐานะที่เป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร โดยกรุงเทพธนาคม (จำเลยที่2) เห็นพ้องต้องกันว่าจะอุทธรณ์ภายใน 30 วัน หากจำเป็นต้องขอพิจารณาคดีใหม่ก็จะขอไปด้วย รวมถึงต้องหารือกับกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าคงมีความเห็นไม่ต่างกัน

หนี้ที่มีอยู่ผูกพันกับกรุงเทพธนาคม กรุงเทพมหานคร และบริษัท BTSC ส่วนจะมีมากน้อยเพียงใดต้องอาศัยคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเป็นแนวทาง ซึ่งต้องศึกษาให้รอบคอบ หากหนี้จำนวนใดนิ่งแล้วจะพูดคุยกับบริษัท BTSC เพื่อหาวิธีการจ่ายเงินชดเชย อาจจะจ่ายเป็นงวด หรือผ่อนปรน

ส่วนที่จะขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ เป็นเรื่องการคำนวณค่าใช้จ่ายตามสัญญานี้ ซึ่งกรุงเทพธนาคมจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการบ้านส่วนนี้อยู่ ทั้งนี้ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาลปกครองสูงสุด จะยังคงต้องเจรจากับบริษัท BTSC เพื่อประนีประนอมควบคู่กันไป ก่อนศาลมีคำพิพากษา

โดยที่ผ่านมาคำค้านของกรุงเทพธนาคมที่มีต่อศาลปกครองกลาง ระบุถึงเหตุผลที่ไม่จ่ายหนี้ส่วนต่อขยายที่ 1 กับ 2 ไว้ว่า ต้องรอการดำเนินการตามคำสั่ง คสช.มาตรา 44 แต่การพิจารณาครั้งนี้ ประเด็นที่จะอุทธรณ์ต้องเป็นประเด็นสืบเนื่องจากศาลชั้นต้น ยกเว้นแต่การพิจารณาคดีใหม่ อาจจะใช้กฎหมายอื่นร่วมด้วยได้ ขอกลับไปทำการบ้านก่อน เพราะยังมีอีกหลายประตูที่ต้องทำให้รอบคอบ

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง ยืนยันว่าหนี้ที่มีกับบริษัท BTSC มีเพียงก้อนเดียวคือ 11,754 ล้านบาท ส่วนกรณีที่บริษัทฯ เคยให้ข่าวว่ากรุงเทพธนาคมและกรุงเทพมหานครเป็นหนี้อยู่ 38,000ล้านบาท ไม่ทราบว่านเป็นทุนทรัพย์จากคดีใด โดยการชำระหนี้นั้นจะต้องพูดคุยกับกรุงเทพมหานครอีกครั้งว่าจะแบ่งจ่ายกันอย่างไร ทั้งนี้หลักศาสปกครองกลางมีคำพิพากษายังไม่ได้ติดต่อพูดคุยกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผุ้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพียงแต่พบกันในงานเปิดตัวนโยบาย “ไม่เทรวม” เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งมีความคิดเห็นตรงกันว่า “แพ้แน่” และถ้าจำเป็นก็ต้องอุทธรณ์

ส่วนกรณีที่ BTSC ระบุว่า อาจแบกภาระหนี้ไม่ไหว ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง ระบุว่า สิ่งที่ต้องทำคือความรอบคอบและเป็นธรรม นอกจากจะคำนึงถึงผลประโยชน์และกำไร จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนด้วย

“หากวันนี้เราจ่ายทั้งหมด แล้ววันหนึ่งพิสูจน์ได้ว่า เราไม่ต้องจ่ายหนี้ทั้งหมด ก็อาจรักษาประโยชน์ของรัฐได้ไม่เต็มที่ และอาจถูกดำเนินคดีเช่นกัน”

Related Posts

Send this to a friend