‘ดิเรกฤทธิ์’ แย้ม สว. เกิน 1 ใน 3 จ่อเข้าชื่อชงเปิดซักฟอกแบบไม่ลงมติ
แจงไม่เคยอภิปราย รบ.ประยุทธ์ เพราะ รบ.เศรษฐา มาจากประชาชน มีพันธสัญญาจากที่หาเสียงไว้ ขอให้มาชี้แจงเอง เผย กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เตรียมร่างญัตติครอบคลุม 7 ประเด็น รวม ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’
วันนี้ (8 ม.ค. 67) นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ณ อาคารรัฐสภา ก่อนเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน แบบไม่มีการลงมติ
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า การประชุม กมธ. วันนี้มี นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธานฯ และตนเองเป็นรองประธานฯ ซึ่ง กมธ. ต่างเห็นพ้องในญัตติดังกล่าว เมื่อคุยกันนอกรอบ มีผู้ลงชื่อมากกว่าจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด คือ 1 ใน 3 ของ สว. หรือ 84 คนแน่นอน
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ในที่ประชุมวันนี้ จึงจะร่างรายละเอียดออกมาให้ครอบคลุมรวมทั้งสิ้น 7 ประเด็น เรื่องที่วุฒิสภาให้ความสนใจ เช่น เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีปัญหาเรื่องขอบเขตในการแก้ไข เรื่องสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ไม่โปร่งใสไม่รวดเร็ว เรื่องของความเหลื่อมล้ำเลือกปฏิบัติ เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต เรื่องการปฏิรูปประเทศ ที่รัฐบาลเก่าได้ทำมา จึงอยากทราบว่ารัฐบาลชุดปัจจุบัน จะเห็นความสำคัญของทิศทางการปฏิรูปอย่างไร
ส่วนกระบวนการยุติธรรม นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายหลายกรณีที่น่าสงสัย มีบางคนถูกเลือกปฏิบัติในการบริหารโทษ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือเฉพาะคนที่อยู่ชั้น 14 ซึ่งประชาชนควรจะเห็นความโปร่งใสในการบริหารงานยุติธรรม ไม่ใช่กล่องดำ ต้องสามารถตรวจสอบได้ ยืนยันไม่ได้ก้าวล่วงดุลยพินิจ ในหลายกรณีที่มีคนของรัฐทำผิดเสียเอง ก็ต้องดำเนินการด้วย เช่น กำนันผู้มีอิทธิพล พนันออนไลน์ และหมูเถื่อน เป็นต้น
ดังนั้น ญัตติดังกล่าวจะเป็นการอภิปรายโดยทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะเรื่อง เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่นอกจากการออกกฏหมายแล้ว ยังเป็นการติดตามบังคับใช้กฎหมาย และกำกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะแนวนโยบายในการหาเสียง และการทำงานของ ครม. และมีหลายเรื่องที่ประชาชนคลางแคลงสงสัย รัฐมนตรี (รมต.) ก็จะได้ใช้โอกาสนี้ในการชี้แจง
ส่วนจะหวังให้นายกรัฐมนตรีมาชี้แจงเองหรือไม่นั้น นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวตอบว่า ถือเป็นข้อดีของรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ที่หาก สว. เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คนแล้ว ครม. ต้องมาชี้แจงด้วยตนเอง ไม่ใช่การตอบชี้แจงรูปแบบอื่น อย่างหนังสือตอบในกระทู้ถาม
ท้ายที่สุด นายดิเรกฤทธิ์ ให้ความเห็นต่อสาเหตุที่จะเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายตอนนี้ ขณะที่ที่ผ่านมาสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เปิดอภิปรายเลยนั้นว่า รัฐบาลก่อน ได้มาชี้แจงทุก 3 เดือน หรือ 1 ปี โดยเฉพาะเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนมีการทำงานร่วมกับคณะ กมธ. ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากประชาชน มีพันธสัญญาจากนโยบายที่หาเสียงไว้ จึงต่างจากรัฐบาลก่อน ดังนั้น รัฐบาลก็ต้องขับเคลื่อน ซึ่งเวทีนี้ก็จะได้ชี้แจง อย่าปล่อยให้ใครมาว่าร้ายรัฐบาล