POLITICS

นักวิชาการ ชี้ รัฐปล่อยเอกชนครองสัดส่วนผลิตไฟมากกว่า 51% ขัดรัฐธรรมนูญปี 60

สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเสวนา “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?” โดยเวทีเสวนาได้ข้อสรุปชัดว่า การบริหารจัดการกิจการไฟฟ้าของรัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีความผิดพลาด เอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานปล่อยให้เอกชนมีสัดส่วนการผลิตมากขึ้นตามลำดับ

จนปัจจุบัน ผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน ทั้งที่ผลิตในประเทศและจากการนำเข้า มีกำลังผลิตไฟฟ้ามาถึงร้อยละ 68 ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่หลักในการผลิตไฟฟ้าของรัฐ กลับมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเหลือเพียงร้อยละ 32 ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 56

ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงการตีความกฎหมายในประเด็นการบริหารจัดการกิจการไฟฟ้า ว่า การพิจารณาความหมายของ “โครงสร้างและโครงข่าย” ต้องพิจารณาองค์ประกอบของกิจการสาธารณูปโภคนั้นๆ ควบคู่ไปกับเนื้อความตามมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 วรรค 2 ที่ระบุว่า โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 มิได้ ดังนั้น การดำเนินการของรัฐบาล ที่ส่งผลให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในส่วนของระบบการผลิตไฟฟ้าเกินกว่าร้อยละ 51 ซึ่งกระทบต่อหลักประกันในกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

นายพงษ์ดิษฐ พจนา อดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) กล่าวว่า การที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนมีมากเกินไป และการบริหารจัดการที่ต้องเป็นไปตามสัญญาธุรกิจส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสูงเกินควร เนื่องจากต้นทุนจากการผลิตไฟฟ้าคิดเป็นประมาณร้อยละแปดสิบในราคาจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ การที่รัฐมีความเป็นเจ้าของโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด ยังส่งผลให้เกิดความสูญเสียอย่างมากในเรื่องการนำส่งเงินรายได้เข้ารัฐจาก กฟผ.

“ปัจจุบัน กฟผ. มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าประมาณร้อยละ 30 สามารถนำเงินรายได้ส่งให้รัฐได้ประมาณปีละ 20,000 ล้านบาท ดังนั้น หาก กฟผ. มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าตามที่ควรจะเป็นคือร้อยละ 51 ก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและจะสามารถนำเงินส่งให้รัฐได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ หากคิดย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อสัดส่วนผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. เริ่มน้อยลงกว่าร้อยละ 51 จะพบว่ามูลค่าจากผลประโยชน์ด้านรายได้ของรัฐที่สูญเสียไปแล้วรวมคงไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นล้านบาท” อดีตรองผู้ว่า กฟผ. กล่าว

นายปรีชา กรปรีชา รองยุทธศาสตร์แผนงานและวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ระบุว่า กิจการไฟฟ้าจัดเป็นสาธารณูปโภค ซึ่งโดยหลักแล้วรัฐจะต้องเป็นผู้ดำเนินการกิจการดังกล่าวเองทั้งหมด แต่ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชน โดยใช้วิธีการ 2 รูปแบบคือ 1) ใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ปี 2542 ในการเปลี่ยนกิจการไฟฟ้าซึ่งเป็นสมบัติของรัฐให้กลายเป็นของเอกชน หรือ 2) การโอนกิจการไฟฟ้าให้เป็นของเอกชนโดยการแบ่งสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าให้กับเอกชนอย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาแก่ระบบเศรษฐกิจของชาติโดยรวม

“ปัญหาค่าไฟแพงในปัจจุบัน เกิดจากราคาเชื้อเพลิง ปัญหาไฟฟ้าสำรองเกิน และสัญญาซื้อขายเอื้อต่อเอกชน เช่น ค่าพร้อมจ่าย ประกันราคาก๊าซขั้นต่ำ ดังนั้น วิธีที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ดีที่สุดคือรัฐต้องทำตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 56 โดยให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ซึ่งจะเป็นการสร้างสมดุลระหว่างรัฐกับเอกชน” นาปรีชา กล่าว

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า รัฐต้องทำหน้าที่ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยควบคุมและการบริหารจัดการกิจการไฟฟ้าให้เป็นของรัฐอย่างน้อยร้อยละ 51 เพราะระบบกิจการไฟฟ้าของประเทศมีองค์ประกอบสำคัญทำงานร่วมกัน 6 ระบบ ได้แก่ ระบบผลิตไฟฟ้า, ระบบส่งไฟฟ้า, ระบบจำหน่ายไฟฟ้า, ระบบสื่อสาร, ระบบควบคุมและวางแผนการผลิต, และระบบบริหารจัดการ องค์ประกอบทั้งหมดนี้ต้องทำงานร่วมกันประสานกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะวิกฤติ เช่น ภาวะสงคราม ความขัดแย้งทางการเมือง การพิพาทระหว่างประเทศ การจลาจล หรือภัยพิบัติธรรมชาติ จึงเป็นสาเหตุที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ต้องกำหนดไว้ ทั้งนี้ หากองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือต่างชาติ อาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน รวมทั้งส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่และจัดการได้ยากตามมาได้

Related Posts

Send this to a friend