‘ประสาน’ รับต้องเร่งออกอนุบัญญัติวางมาตรการป้องกันจับสัตว์น้ำวัยอ่อน
‘ประสาน’ โทรจี้อธิบดีกรมประมงทันทีหลังรับหนังสือ นัดประชุมด่วนศุกร์นี้ รับเป็นปัญหาสำคัญ ต้องเร่งออกอนุบัญญัติ วางมาตรการป้องกันจับสัตว์น้ำวัยอ่อน
วันนี้ (7 มิ.ย. 65) ขบวนภาคีทวงคืนน้ำพริกปลาทู เดินเท้ามาที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ขอให้แก้ไขปัญหาการจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนจากทะเลไทยจำนวนปริมาณมาก ที่ถูกจับไปเป็นปลาเป็ดป้อนอาหารสัตว์ และป้อนเข้าสู่ตลาดผู้บริโภค จำนวนมาก ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำทะเลถูกทำลายก่อนวัยอันสมควร เกิดความความเสียหายทางมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ ชาวประมงพื้นบ้าน และเกิดผลกระทบต่อเนื่องในวงกว้าง
โดยที่รัฐบาลเคยตราพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งถูกประกาศใช้อย่างเร่งด่วนนั้น มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องให้รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารมีอำนาจในการดำเนินการแก้ไขปัญหา อาทิเช่น มาตรา 58 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนําสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดขึ้นเรือประมง”, มาตรา 71 (2) กำหนดให้รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจําจังหวัดมีอํานาจออกประกาศข้อกําหนดที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับสัตว์น้ำที่ถูกจับได้โดยบังเอิญ เป็นต้น แต่ปรากฏว่า จนถึงบัดนี้ฝ่ายที่รับผิดชอบยังคงมีท่าทีถ่วงเวลาการบังคับใช้ข้อกำหนดต่างๆ ไม่มีประกาศกำหนดเพื่อปกป้องสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนทำให้มีเครื่องมือประมงเชิงอุตสาหกรรมทำการประมงจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนในสัดส่วนสูงมาก จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาวประมงพื้นบ้าน และต่อเศรษฐกิจ สังคม โดยรวม จึงขอให้ พล.อ.ประวิตร ได้ดำเนินการติดตามแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว
นายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อม นายธีรภัทร ประยูทรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและ นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มารับหนังสือ พร้อมยืนยันว่าเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่ม เป็นปัญหาที่หน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่ออกอนุบัญญัติหลังมีการตรากฎหมายและบังคับใช้มานานแล้ว พร้อมแจ้งว่าเมื่อเช้านี้ได้นำประเด็นข้อเรียกร้องของกลุ่มรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และมีข้อสั่งการให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเร่งติดตาม ประสานงาน แก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่เดือดร้อนทุกกลุ่มด้วย
ประสาน หวังรัตนปราณี ต่อสายถึง นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมงทันที หลังการรับหนังสือ โดยกำหนดวัดประชุมระหว่างกรมประมงและกลุ่มสมาคมสมาพันธุ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายนนี้ และแจ้งให้กลุ่มภาคีฯ รายงานผลการประชุมมายังตน พร้อมกับตัวแทนกรมประมงด้วยเพื่อรับฟังเสียงทั้งสองทางและหาทางออกที่ดีร่วมกันให้ได้ ยืนยันว่าปัญหานี้มีความสำคัญต่อคนไทย เพราะอีกไม่นานทั้งโลกจะประสบปัญหาเรื่องความยั่งยืนทางด้านอาหาร จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องเร่งออกกฎหมายและมาตรการณ์ควบคุมการทำประมงที่ทำลายทรัพยากร จับสัตว์น้ำตัวอ่อน ทำให้ระบบนิเวศของท้องทะเลเสียหาย
“…ผมจะนำเรื่องนี้นำเรียนท่านรองนายกฯ (ประวิตร) ทางโทรศัพท์วันนี้ และพรุ่งนี้เช้าจะไปราชการกับท่านก็จะเร่งนำเรียนเป็นการส่วนตัว จะขอสั่งการที่กรมประมงเร่งดำเนินการตามข้อเรียกร้อง ในเมื่อกฎหมายประกาศใช้แล้ว กฎหมายลูกต้องตามมาทันที ไม่ใช่ปล่อยทิ้งช้าไว้ ทำให้เกิดช่องว่าง เกิดปัญหากับประชาชน…”
“…เรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน มีกฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ต้องเป็นเรื่องของอนุบัญญัติ เป็นหน้าที่ของกรมประมงเป็นผู้ตั้งเรื่องขึ้นมา เข้าใจว่าที่ผ่านมาภารกิจอาจจะเยอะ จึงเกิดช่องว่างที่มากระทบกับชาวบ้าน ชาวประมง ผมจะรีบเร่งกำชับกรมประมงให้ดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด เพราะการอนุรักษ์สัตว์น้ำวัยอ่อนเป็นเรื่องสำคัญจำเป็น…” ประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
เรื่อง: ทศ ลิ้มสดใส
ภาพ: พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์