POLITICS

‘สกลธีโมเดล’ ผุดพื้นที่ ‘มิกซ์ยูส’ สำหรับชุมชน สร้างพื้นที่สาธารณะให้ชุมชนทั้ง 50 เขต

‘สกลธี’ ดึงประสบการณ์รองผู้ว่าฯ ผุดพื้นที่ ‘มิกซ์ยูส’ ดึงความสะดวกเข้าชุมชนแบ่งโซน สวนสาธารณะ โค- เวิร์คกิ้งสเปซ ห้องสมุด ลานกิจกรรม ร้านค้า ฟื้นเศรษฐกิจคนเมือง เล็งเพิ่มให้ครบ 50 เขตใน กทม.

วันนี้ (7 พ.ค. 65) นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 3 กล่าวถึงนโยบาย “สกลธีโมเดล” ที่มุ่งสร้างความสุขให้กับคนกรุงเทพฯ เพื่อให้กรุงเทพฯ ดีกว่าเดิมว่า จากการลงพื้นที่ทั้งช่วงที่เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. และช่วงการหาเสียงขณะนี้ เห็นว่าในหลายพื้นที่ของ กทม. ยังสามารถที่จะนำมาบริหารจัดการเพื่อพัฒนาให้ตอบสนองความสะดวกสบายของคนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของตนที่ต้องการนำความสะดวกสบาย ในบริการต่างๆ ของรัฐเข้าไปถึงประชาชนแทนที่จะต้องออกไปหาเอง โดยเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะก็เป็นส่วนหนึ่งในแนวคิดนี้ ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับการเรียกร้องจากประชาชนหลากหลายกลุ่มเกี่ยวกับความต้องการพื้นที่สาธารณะใกล้บ้านที่สามารถเข้าไปใช้ร่วมกันให้มากขึ้น

ทั้งกลุ่มครอบครัวที่ต้องการพื้นที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจราคาถูก กลุ่มคนทำงาน ที่ต้องการพื้นที่ออกกำลังกาย รวมไปถึงกลุ่มเยาวชน ที่ต้องการพื้นที่ในการใช้ความคิด ทำงานในลักษณะโค-เวิร์คกิ้งสเปซ ทำงานศิลปะ หรือ กิจกรรมอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งตอนสมัยที่เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ก็ทำเรื่องนี้มาตลอด และดำเนินการสำเร็จมาแล้ว ดังนั้นถ้ามีโอกาสที่ได้กลับไปเป็นผู้ว่าฯ กทม. จึงตั้งใจจะสานงานนี้ต่อ

นายสกลธีกล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าพื้นที่สาธารณะ ไม่ได้หมายความถึงพื้นที่สีเขียวอย่างเดียว แต่ควรเป็นพื้นที่ที่ประชาชนสามารถใช้ร่วมกันเพื่อทำกิจกรรมอื่นด้วย นั่นคือในพื้นที่หนึ่งอาจจะไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้งานเฉพาะกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งอย่างเดียว แต่สามารถที่แบ่งโซน เพื่อใช้ร่วมกันในกิจกรรมที่แตกต่างกันได้ เช่น ในสวนสาธารณะเล็กๆ แห่งหนึ่ง อาจจะเป็นได้ทั้ง สวนพักผ่อน สวนออกกำลังกาย หรือกีฬา และยังสามารถแบ่งโซนหรือพื้นที่ไว้สำหรับการทำโค-เวิร์คกิ้งสเปซ ให้คนรุ่นใหม่มาใช้ทำงาน

และเมื่อมีคนมาใช้พื้นที่ก็จะทำให้เกิดร้านค้าชุมชน เช่นร้านกาแฟ หรือฟู้ดสตรีทเล็กๆ สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ได้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ “มิกซ์ยูส” ที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ร่วมกัน ตามนโยบายของตนต้องการที่จะทำให้ทุกเขตมีสวนสาธารณะในลักษณะนี้ให้ครบทั้ง 50 เขต โดยในทุกเขตก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีขนาดใหญ่ แต่สามารถทำเป็นพื้นที่ย่อยๆ ได้ โดยได้ไอเดียมาจากประเทศญี่ปุ่น เพราะแค่เดินอยู่ในกินซ่า เลี้ยวขวา เลี้ยวซ้ายนิดเดียวก็ไปเจอสวนแล้ว บางทีสวนแค่ 100 – 200 ตารางเมตร หรือ 10 ไร่ ก็สามารถกลายเป็นสวนเล็กๆ ของชุมชนได้

“ตอนสมัยเป็นรองผู้ว่าฯ ผมเคยทำที่เขตลาดพร้าว ได้จัดพื้นที่รกร้างว่างเปล่า 14 ไร่ ที่ตอนแรกมีคนบุกรุกมีการเจรจาขอให้ย้ายออกและเรานำพื้นที่มาทำเป็นทางวิ่ง นำต้นไม้ไปปลูก ทำให้ได้สวนของชุมชนกลับคืนมา ถ้าเราทำแบบนี้ทุกเขต ก็จะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ทำกิจกรรมอื่นๆ ใกล้บ้านเป็นการดึงความสะดวกสบายเข้ามาใกล้คน แทนที่จะต้องออกไปไกลๆ อย่างคนที่อยู่คลองสามวาก็ไม่ต้องขับรถเพื่อเข้ามาในเมืองเพื่อมาวิ่งในสวนขนาดใหญ่ แต่สามารถใช้สวนใกล้บ้านทำกิจกรรมต่างๆ ได้เลย” นายสกลธีกล่าว

นายสกลธีกล่าวต่อว่า สำหรับ โค – เวิร์คกิ้งสเปซ ที่ตนอยากจะทำเพราะไม่ต้องใช้พื้นที่มาก สามารถแบ่งโซนมาทำโดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ทุนอะไรมากมาย หรือไม่ต้องทำให้หรูหรา เพียงแต่ทำให้เป็นสถานที่ที่สะดวกต่อการทำงาน มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เช่นไวไฟ (Wifi) รวมไปถึงสิ่งที่จำเป็นต่อการทำงาน ใช้เพียงแค่ตู้คอนเทนเนอร์ หรืออาคารเล็กๆ มาทำให้พวกเขาสามารถใช้ทำงานได้โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก หรือเพิ่มห้องสมุดเล็กๆ เข้าไปให้เด็กๆ ได้มาใช้ในอีกโซนหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีคนก็จะทำให้มีการค้าขาย มีร้านค้าอาจจะเป็นร้านกาแฟ ร้านอาหารเล็กๆ ทำให้คนในชุมชนมีรายได้ขึ้นด้วย โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไกลบ้านแต่เขาจะได้ใช้บริการของรัฐได้อย่างสะดวก

“อีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมอยากจะทำคือ พื้นที่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของกรุงเทพ เช่น ตลาดน้อย นางเลิ้ง ที่เป็นชุมชนเก่าสวยงามก็สามารถที่จะดึงความโดดเด่นของชุมชนดั้งเดิมของ กทม.นี้ขึ้นมาเป็นจุดขาย ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว หรือ พื้นที่สาธารณะของชุมชน อาจจะเปิดโชว์งานศิลปะ จัดเป็นงานแฟชั่น หรือกิจกรรมอื่นๆ ได้ด้วย ก็จะทำให้คนในพื้นที่มีรายได้และยังเป็นจุดท่องเที่ยวหรือพักผ่อนหย่อนใจได้ เพราะด้วยความจำกัดของเมืองใหญ่ อาจจะทำให้มีพื้นที่สำหรับการผ่อนคลายมีน้อย แต่ในนโยบายด้านการบริหารจัดการพื้นที่ ภายใต้ “สกลธีโมเดล” ที่เน้นเรื่องการเชื่อมโยงทุกพื้นที่เข้าสู่การบริการของ กทม.พยายามที่จะลดเงื่อนไขตรงนั้นลง นั่นคือถ้าเราสามารถบริหารจัดการพื้นที่ ทำให้เป็นทั้งพื้นที่สีเขียว พื้นที่ทำงาน หรือพื้นที่สำหรับการผ่อนคลายของคนกรุงเทพได้ จะทำให้เมืองเป็นเมืองที่มีคุณภาพมากขึ้นจากการใช้พื้นที่มีประโยชน์ได้สูงสุดนั่นเอง” นายสกลธี กล่าว

Related Posts

Send this to a friend